ต้องระวัง! สำรวจ 7 เดือนพบเสียชีวิตจากไข้เลือดออก 31 ราย มากสุดกลุ่ม ‘นักเรียน-นักศึกษา’

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ มีฝนตกอย่างต่อเนื่องเกือบทุกวัน เกิดน้ำขังตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆ ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงตามมา ประกอบกับในช่วงฤดูฝนของทุกปีก็เป็นช่วงระบาดของโรคไข้เลือดออกด้วย จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 กรกฎาคม 2560 มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 22,356 ราย เสียชีวิต 31 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี (ร้อยละ 27) 10-14 ปี (ร้อยละ 20) และ 25-34 ปี (ร้อยละ 15) ตามลำดับ ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคใต้ รองลงมาคือ ภาคเหนือ

“นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 48) เป็นเด็กนักเรียนและนักศึกษากลุ่มอายุ 4 – 24 ปี เสียชีวิตถึง 15 ราย จึงขอแนะนำพ่อแม่ ผู้ปกครองและครูอาจารย์ ให้สังเกตอาการป่วยของเด็กอย่างใกล้ชิด และอย่าชะล่าใจ หากมีไข้สูงให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็วเพื่อวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนนี้ ที่เป็นช่วงระบาดของโรคไข้เลือดออก ต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการป่วยของบุตรหลานเป็นกรณีพิเศษ” นพ.เจษฎา กล่าว

อธิบดีกล่าวอีกว่า ในช่วงหน้าฝนนี้ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า พร้อมกำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะที่มีน้ำใสและนิ่ง เช่น ถาดรองขาตู้ ยางรถยนต์เก่า กระถางต้นไม้ เป็นต้น 2.การเฝ้าระวังอาการของโรค เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ผิวหนังเป็นจุดเลือด อาเจียน ปวดท้อง และ 3.การไปพบแพทย์เร็วเมื่อป่วยและมีไข้สูง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรค และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงไข้ลดหากเกิดอาการช็อกจากไข้เลือดออก ต้องรีบกลับไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 

ที่มา มติชนออนไลน์