หมอนิธิ : อย.คิด-ตัดสินใจช้า เด็กคงกลับไปโรงเรียนไม่ได้

หมอนิธิ

หมอนิธิแนะ ฉีดวัคซีนให้เด็ก พร้อมคุมเข้มมาตรการ ห่วงเรียนออนไลน์ เพิ่มช่องว่างการศึกษา 

วันที่ 10 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการศึกษาอย่างมาก ประเทศไทยได้ปรับการเรียนการสอนแบบ Onsite เป็นการเรียนการสอนแบบ Online เต็มรูปแบบ ขณะที่นักเรียนบางส่วนประสบปัญหาเรื่องการเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะเรื่องความพร้อมด้านอุปกรณ์ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าการเรียนออนไลน์จะเป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหรือไม่

ปัญหาเรื่องการเรียนออนไลน์ของนักเรียนไทย ถูกสะท้อนผ่านโซเชียลบ่อยครั้ง ล่าสุดคือแฮชแท็กไม่เรียนออนไลน์แล้ว ซึ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์อยู่หลายวัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ล่าสุด นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda กล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องการเปิดภาคเรียนของนักเรียนในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยแนะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ฉีดวัคซีนให้เด็ก แล้วเปิดเรียนด้วยมาตรการที่เคร่งครัด เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาให้กับเยาวชนไทย โดยข้อความบนโพสต์ทั้งหมด มีดังนี้

“ช่วงนี้ 27% ของเคสใหม่ในอเมริกาเป็นเด็กเยาวชน สำหรับประเทศไทย อย.และกระทรวง สธ. และผมขอเพิ่มกระทรวงศึกษาธิการคงไม่อยากเห็นแบบนี้ในประเทศ ทางเดินมีได้สองทางคือ 1) ไม่ต้องเปิดเรียนไปเรื่อย ๆ และฉีดวัคซีนให้ผู้ใหญ่ให้ได้มากกว่านี้ก่อน 2) ฉีดวัคซีนให้เด็กแล้วเปิดเรียนด้วยมาตรการรักษาระยะห่างใส่หน้ากากเลี่ยงที่แออัด อย่าเคร่งครัด”

“ยิ่ง อย.ยิ่งคิดและตัดสินใจช้า เด็กก็คงกลับไปโรงเรียนไม่ได้ หรือได้แต่เสี่ยง อย่างที่เคยพูดไว้นานมาแล้วว่า เรื่องของระบาดวิทยาการระบาดของโรคแบบโควิดนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องทางการแพทย์อย่างเดียว แต่สังคมวิทยามีความสำคัญพอ ๆ กันหรือมากกว่า”

“เด็ก ๆ ทั้งวัยเรียนประถม มัธยม และอุดมศึกษา ไม่ได้กลับไปชั้นเรียนมากันกว่าปีแล้ว เด็ก ๆ ไม่ได้เจอเพื่อนตัวเป็น ๆ ไม่ได้คุยกันเสียงดัง ๆ ไม่ได้แอบกินขนมหรือแอบเล่นโทรศัพท์ในห้องเรียนให้ครูดุ กันทั้งปี เด็กที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยปีนี้ยังไม่เคยได้ไปใช้ชีวิตใหม่ที่โลดโผนในปีแรกของการเป็นน้องใหม่ในมหาวิทยาลัย เด็กรุ่นช่วงนี้คงเกิดแผลเป็นในการพัฒนาทางสังคมไปตลอดจนเป็นผู้ใหญ่”

“นี่ไม่นับคุณภาพการเรียนการสอนอออนไลน์ที่เด็กและครูในเมืองกับคุณภาพอินเทอร์เน็ตที่แตกต่างจะยิ่งทำให้ช่องว่างทางการศึกษาที่มีมากอยู่แล้วยิ่งมากขึ้นไปอีก เพราะแน่นอนว่าลูกคนมีฐานะย่อมมีอุปกรณ์และการสื่อสารที่แตกต่างกับในที่ห่างไกลอย่างมาก ไม่ต้องพูดถึงเด็ก ๆ ชายขอบ”

“เข้าใจว่าผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาพิจารณาการใช้วัคซีนในเด็กของ อย.จะมีความรู้ความชำนาญด้านการแพทย์และวัคซีนที่เก่งที่สุดในประเทศแล้ว แต่ผมไม่มั่นใจว่าใคร ๆ ใน อย.และผู้กำหนดนโยบายจะคำนึงถึงเรื่อง สังคม และคุณภาพการศึกษาด้วยแค่ไหนครับ”

“ไม่อยากให้ท่านเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแผลเป็นทางสังคมให้เด็ก ๆ และทำให้ช่องว่างทางการศึกษาในเยาวชนไทยกว้างขึ้นกว่านี้โดยที่เยาวชนเหล่านี้จะเป็นพลเมืองทรัพยากรของชาติเราในอนาคตอันใกล้อยากให้คนเก่งประเทศไทย คิดแล้วทำเองได้ก่อนใคร ๆ บ้างอย่าไปรอให้ชาติใด ๆ ตัดสินใจก่อนเลยครับ กล้าตัดสินใจกันหน่อยครับ”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า บริษัท ไบโอเจเนเทค จำกัด ผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม ได้ยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนขออนุญาตขยายอายุผู้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยปัจจุบันทาง อย.ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกองค์กร อยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียน ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่มีการยื่นเอกสาร