วุ่นหนักแซนด์บอกซ์โรงเรียนไม่เวิร์ก กังขาตรวจ ATK 8,000 บาท/เทอม

Photo by Romeo GACAD / AFP

โปรเจ็กต์ Sandbox Safety Zone in School เงียบเหงา มีแค่ 10 รายยื่นขอเข้าระบบ คาดยังไม่มั่นใจการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระบาด กังขาเงื่อนไขการฉีดวัคซีนให้เด็กใครรับผิดชอบค่าใช้จ่ายกว่า 8,000 บาท/เทอม ด้านโรงเรียนนานาชาติ-เอกชนร้องอยากเปิดการเรียนการสอน ทนแบกรับต้นทุนไม่ไหว ปรับรูปแบบเรียนออนไลน์ 100%

นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศคลายล็อก และกำหนดให้โรงเรียนที่มีความพร้อมเปิดการเรียนการสอนปกติ (on-site) จัดทำแผนเตรียมความพร้อมนำเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ หรือสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อนำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) อนุมัติต่อไป

รวมกับมาตรการ Sandbox Safety Zone in School หรือ SSS ที่ดำเนินคู่ขนานกันในพื้นที่ กทม.นั้น ล่าสุดมีเพียง 10 โรงเรียนที่ยื่นขออนุญาตเข้ามา ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดต้องรอให้ศึกษาธิการจังหวัดรายงานความคืบหน้า

สาเหตุที่โรงเรียนไม่เข้าร่วม 1) ไม่มั่นใจสถานการณ์โควิด 2) ผู้ปกครองไม่ส่งเด็กเข้าเรียน เพื่อลดความเสี่ยงจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นจริง ๆ และ 3) ภาระค่าใช้จ่ายตามมาตรการรัฐกำหนด

โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายตรวจหาโควิด-19 เนื่องจากเงื่อนไขโรงเรียนต้องมีการคัดกรองนักเรียนอย่างต่อเนื่อง เช่น สุ่มตรวจ ATK นักเรียน 1 คน ต้องตรวจ 40 ครั้งต่อเทอม ค่าตรวจรวม 8,000 บาทต่อเทอม ยังไม่นับค่าวัคซีนที่ต้องฉีดให้กับนักเรียนว่า หน่วยงานใดจะต้องรับภาระต้นทุนส่วนนี้

ก่อนหน้านี้มีโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนนานาชาติที่ต้องการเปิดเรียน onsite มีความร่วมมือจากผู้ปกครองที่ต้องสั่งซื้อวัคซีนให้นักเรียนทั้งโรงเรียน สัดส่วน 50 : 50 บางโรงเรียนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อฉีดวัคซีนให้นักเรียน สร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครอง

“โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ต้องการเปิดการเรียนการสอนตามปกติ เพื่อให้มีรายได้เข้ามาบ้าง เพราะที่ผ่านมาปิดโรงเรียนเกิน 1 ปีรายรับหายไปค่อนข้างมาก ฝั่งผู้ปกครองก็ประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ หรือขาดรายได้ จนทำให้ผู้ปกครองบางรายต้องนำบุตรหลานออกจากโรงเรียน หรือย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่นที่มีค่าเทอมถูกกว่า หรือบางรายก็ค้างชำระค่าเทอม เพราะผู้ปกครองไม่มีจริง ๆ ทำให้รายรับของโรงเรียนหายไปทันที 90% อีก 10% ที่มาจากส่วนอื่น ๆ ก็น้อยมากแม้ภาครัฐจะสนับสนุนอยู่บ้าง แต่ก็สัดส่วนเล็กน้อยเท่านั้น”

นายอรรถพลกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขั้นตอนการดำเนินการของโรงเรียนทั่วประเทศต่อจากนี้คือยื่นขอเปิดการเรียนการสอน ตามเงื่อนไขของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นแต่ละโรงเรียนจะยังใช้การเรียนแบบ hybrid คือมีบางระดับชั้นที่เรียน onsite ร่วมกับการเรียนผ่านออนไลน์

เช่น ระดับประถมเป็นต้น แต่สำหรับเด็กเล็กยังต้องเรียนผ่านออนไลน์อยู่ที่บ้าน แม้ตอนนี้อาจมีข้อมูลข่าวสารปรากฏอยู่บ้างว่าจะมีการกำหนดเปิดภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ แต่กระนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยใหม่เข้ามา เช่น การระบาดในระดับคลัสเตอร์ หรือปัญหาอื่น ๆ

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า ภายหลังจากการสำรวจความพร้อมของโรงเรียนเพื่อเปิดการเรียนการสอนในเดือนพฤศจิกายนนั้น ส่วนใหญ่ยังสอนผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา (จ.ชลบุรี) และขณะนี้มีการประกาศให้ผู้ปกครองนักเรียนลงทะเบียนจองวัคซีนเพื่อทราบจำนวนที่ต้องการวัคซีนทั้งหมด ทั้งนี้บุคลากรครูค่อนข้างมั่นใจว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยทำให้มั่นใจมากขึ้นที่จะเปิดการเรียนการสอนแบบ onsite

ขณะที่โรงเรียนโสมาภานุสรณ์ (รามอินทรา) ชี้แจงว่าจะเปิดเทอมต่อเมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงแล้วเท่านั้น

ด้านโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ และโรงเรียนในกลุ่มเครือเซนต์ปอลฯ รวม21 โรงเรียนนั้นต่างใช้รูปแบบการสอนผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงขั้นตอนในการสอบด้วยระบบออนไลน์ทั้งหมด ตั้งแต่การรับสมัครนักเรียนใหม่, การสอบ และการรายงานตัวกับทางโรงเรียนก็ใช้ระบบออนไลน์เช่นกัน