ราชทัณฑ์ ปลื้ม เอกชน อ้าแขนรับนักโทษเข้าทำงานนิคมอุตสาหกรรม

ราชทัณฑ์ ปลื้ม เอกชน ขานรับนิคมอุตสาหกรรมนักโทษ ร่วมเสริมกำลังผลิต
ภาพจากเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์

กรมราชทัณฑ์ ปลื้ม ภาคเอกชนตอบรับนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ส่งนักโทษ 1,000 คน ร่วมเป็นแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม นำร่อง “สมุทรปราการโมเดล”

วันที่ 21 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์ เผยแพร่การสัมภาษณ์ของ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่า ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องมนุษยชนและต้องการให้โอกาสผู้ต้องขังได้กลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคมอีกครั้ง จึงได้ริเริ่มโครงการ “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ คืนคนดีสู่สังคม เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง”

ทั้งนี้ ภายหลังได้นำร่องโครงการที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นแห่งแรก ในโครงการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรม” หรือ “สมุทรปราการ โมเดล” ด้วยการทดลองนำผู้ได้รับการพักการลงโทษและถูกคุมประพฤติโดยติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM จำนวน 1,000 ออกไปทำงานในสถานประกอบการนิคมอุตสาหกรรม

เพื่อสร้างความมั่นใจต่อภาคอุตสาหกรรมให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ต้องขัง และช่วยเสริมกำลังการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานในการขับเคลื่อนระบบการผลิต หลังจากเกิดปัญหาแรงงานต่างด้าวจำนวนมากถูกผลักดันให้กลับประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง

เอกชน รับ ผู้ต้องขังพักโทษเข้าทำงาน

ล่าสุด บริษัทเอกชนหลายแห่งได้ให้ความสนใจตอบรับผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษและ ติดอุปกรณ์ EM ไปทำงาน พร้อมจัดหาที่พักและสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัท ที่ติดต่อเข้ามายังกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอจ้างงานระยะยาวภายหลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งมีประมาณ 300-400 คน

“การสร้างงานรวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาชีพเป็นเรื่องสำคัญที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ติดตามใกล้ชิดและกำชับมาตลอดว่ากรมราชทัณฑ์ต้องทำให้เสร็จลุล่วง สิทธิของผู้ต้องขังต้องเสมอภาคเพราะเขาคือประชาชนคนไทยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อพ้นโทษพวกเขาต้องมีงานทำและสามารถเดินอยู่ในสังคมได้ มีงาน มีรายได้ ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ เฉกเช่นเดิม” นายอายุตม์ กล่าว

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังกล่าวด้วยว่าก่อนการส่งผู้ต้องขังเข้าทำงานในนิคมอุตสาหกรรม กรมราชทัณฑ์จะคัดเลือกผู้ต้องขังชั้นกลางขึ้นไปที่เข้าเกณฑ์ครบกำหนดปล่อยตัว เข้าโครงการเตรียมความพร้อมฝึกทักษะการทำงาน 1-2 ปี และเมื่อผู้ต้องขังผ่านการฝึกอบรมแล้ว จะได้รับการพิจารณาให้เข้าสู่โครงการพักการลงโทษ กรณี มีเหตุพิเศษด้านฝึกทักษะการทำงานในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อออกไปทำงานจริงในนิคมอุตสาหกรรม ภายหลัง การปล่อยตัวพ้นโทษและติดอุปกรณ์ EM ควบคู่กับการดูแลผู้กระทำผิดหลังปล่อยทั้งระบบ”

นายอายุตม์ กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวยังช่วยแก้ไขปัญหานักโทษล้นเรือนจำได้อีกด้วย เนื่องจากสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังอยู่ในความควบคุมดูแลจำนวน 305,447 คน ขณะที่ศักยภาพภายในเรือนจำและทัณฑสถานสามารถรองรับได้เพียง 299,048 คน

กรมราชทัณฑ์จึงได้ดำเนินการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อลดความแออัดที่จะส่งผลกระทบต่อการบริหารงานเรือนจำหลาย ๆ ด้าน อีกทั้งจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน คาดการณ์ว่าภายใน 10 ปี จะมีอัตราการเพิ่มของผู้ต้องขังสูงขึ้น และในจำนวนนี้จะมีผู้พ้นโทษกลับมากระทำผิดซ้ำเพิ่มขึ้นด้วย

เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้กรมราชทัณฑ์จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะเพิ่มโอกาสให้ผู้พ้นโทษมีพื้นที่ยืนในสังคมมากขึ้น กลับไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สามารถเติมเต็มและขับเคลื่อนชุมชนเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน ไม่ทำร้ายสังคมไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ