ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯออกคำแนะนำฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก-วัยรุ่น

วัคซีน

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยเผยคำแนะฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่น อายุ 12 ปีขึ้นไป 

วันที่ 24 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง โพสต์เอกสารคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กวัยรุ่นตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พร้อมระบุข้อความว่า เห็นด้วยกับแนวทางนี้ของราชวิทยาลัยฯ โดยเอกสารดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้

1.แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ (วันที่ 22 กันยายน 2564) มีวัคซีนชนิดเดียวที่มีในประเทศไทย คือ ชนิด mRNA ของ Pfizer-BioNTech

และเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 วัคซีนชนิด mRNA ของ Moderna ได้รับการรับรองเพิ่มเติม (แต่ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนนี้ในประเทศไทย) สำหรับวัคซีนชนิดเชื้อตายของ Sinopharm และ Sinovac อยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อมูลเรื่องการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเด็ก และขณะนี้ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่น

2.แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ได้รับรองโดย อย. 2 เข็มห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ในเด็กและวัยรุ่นทุกทคนที่ อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป และเด็กและวัยรุ่นทุกคนที่อายุ 12 ปี ขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด-19 รุนแรง ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ให้ไว้ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2564

3.แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ได้รับการรับรองโดย อย. 2 เข็ม ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ในเด็กและวัยรุ่น ที่แข็งแรงดีอายุตั้งแต่ 12 ปี ถึงน้อยกว่า 16 ปี (12-<16)

สำหรับเด็กและวัยรุ่นที่แข็งแรงดีในช่วงอายุดังกล่าว แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียงเข็มเดียว และชะลอการฉีดเข็มสองไว้ก่อนจนกว่าจะมีข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนนี้เพิ่มเติม

ทั้งนี้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิดชนิด mRNA มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงเรื่องกล้ามเนื้อและเยื่อหัวใจอักเสบได้สูงสุดในเด็กและวัยรุ่นชายในกลุ่มอายุนี้ และมักพบสัมพันธ์กันภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มสอง

โดยรายงานจากระบบ Vaccine Adverse Event Reporting System (VAERS) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 18 มิถุนายน 2564 ในสหรัฐอเมริกา รายงานอัตราเกิดอาการข้างเคียงของระบบหัวใจในเด็กและวัยรุ่นชายในกลุ่มอายุ 12-<16 ปี ในอัตรา 162.2 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง 1 ล้านโดส

ในขณะที่รายงานอัตราอาการข้างเคียงของระบบหัวใจในเด็กและวัยรุ่นในเด็กหญิงกลุ่มอายุเดียวกันพบในอัตราที่ต่ำกว่ามาก คือ 13 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มสอง 1 ล้านโดส

ขณะที่พบว่าการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer-BioNTech 1 เข็ม และ 2 เข็ม มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 จากสายพันธุ์เดลต้าได้ร้อยละ 36 และ 88 และป้องกันการติดโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้สูงถึงร้อยละ 94 และ  96 ตามลำดับ

คำแนะนำนี้จึงพิจารณาให้เด็กและวัยรุ่นหญิงได้รับประโยชน์จากวัคซีนเต็มที่จากการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ในขณะที่เด็กผู้ชายจะต้องมีการประเมินประโยชน์และความเสี่ยงเพิ่มเติมเมื่อได้ข้อมูลในบริบทของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ก่อนจะให้คำแนะนำในการฉีดเข็มต่อไป

4.แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปี ถึงน้อยกว่า 16 ปี ที่อาศัยร่วมบ้านกับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

5.แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่ครูและบุคลากรทุกระดับในโรงเรียนและสถานศึกษาทุกคน และสมาชิกร่วมบ้านของบุคลากรทุกคน และแนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่ผู้ปกครองและสมาชิกในครอบครัวของเด็กทุกคน

6.ส่งเสริมให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัดในโรงเรียนและสถานศึกษาตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค

7.การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นเป็นความสมัครใจของตัวเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งควรได้รับการยอมรับ เด็กและวัยรุ่นทุกคน ควรได้ไปโรงเรียนและร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนได้อย่างเท่าเทียม

ไม่ว่าเด็กและวัยรุ่นจะได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่ หรือได้รับวัคซีนชนิดใด โดยต้องรักษามาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

8.แนะนำให้งดออกกำลังกายอย่างหนักหรือการทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ภายหลังจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA

เนื่องจากมีรายงานการเกิดผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA

ซึ่งถึงแม้จะพบในอัตราที่ต่ำ แต่เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน จึงแนะนำให้เด็กและวัยรุ่นทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและวัยรุ่นชายที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ทั้งโดสที่ 1 และ 2 ให้งดออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ภายหลังจากการฉีดวัคซีน

และในเวลาดังกล่าวนี้หากมีอาหารเจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย หรือหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์ โดยหากแพทย์สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ควรพิจารณาทำการตรวจค้นเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หากมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นมากขึ้น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จะมีคำแนะนำเพิ่มเติมในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในอนาคตต่อไป