ศบค.พบต่างชาติเข้าภูเก็ต ติดโควิด 4 ราย ชายแดนใต้ป่วยพุ่ง 1,331 ราย

สนามบินภูเก็ต
(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

ศบค.เผยวันนี้ต่างชาติเดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย โยงเข้าภูเก็ตแซนด์บอกซ์ 4 ราย ผลตรวจพบเชื้อทุกราย มีอาการ 2 ราย ไม่มีอาการ 8 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตกทม.ลดฮวบ ห่วงพื้นที่ชายแดนใต้ยอดติดเชื้อเพิ่ม 1,331 ราย

วันที่ 28 กันยายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 9,489 ราย หายป่วยแล้ว 1,420,780 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,552,552 ราย และเสียชีวิตสะสม 16,404 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 หายป่วยแล้ว 1,448,206 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,581,415 ราย และเสียชีวิตสะสม 16,498 ราย

ยอดรักษาตัวในรพ.ลด

วันนี้มีผู้ป่วยรักษาหาย 12,805 รายกำลังรักษา 116,711 ราย อยู่ในรพ. 33,799 ราย ขณะที่ยอดผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในรพ.สนามและอื่น ๆ มีจำนวน 82,912 ราย

ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนักอยู่ 3,283 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 738 ราย และวันนี้มีผู้เสียชีวิตอีก 129 ราย

ขณะที่ผู้ขอรับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 27 กันยายน 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 218,818 รายเข็มที่ 2 จำนวน 484,278 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 31,485 ราย และเข็มที่ 4 จำนวน 16 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 27 กันยายน 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 51,398,473 โดส

ไทยยังรั้งอันดับ 28 ของโลก

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันอังคารที่ 28 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 233,092,663 ราย อาการรุนแรง 92,141 ราย รักษาหายแล้ว 209,824,963 ราย และเสียชีวิต 4,769,789 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 43,942,335 ราย 2. อินเดีย จำนวน 33,693,148 ราย 3. บราซิล จำนวน 21,366,395 ราย 4. สหราชอาณาจักร จำนวน 7,701,715 ราย 5. รัสเซีย จำนวน 7,443,149 ราย

ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 28 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,581,415 ราย

ต่างชาติบินเข้าภูเก็ต พบติดเชื้อ 4 ราย

ขณะที่ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ พบว่าเกี่ยวข้องกับภูเก็ตแซนด์บอกซ์ 4 ราย มาจากอิสราเอล 1 ราย เยอรมนี 2 ราย ไอร์แลนด์ 1 ราย ผลตรวจพบเชื้อทั้ง 4 ราย แต่ไม่มีอาการ เข้าพักใน รพ.เอกชนที่ภูเก็ต

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศอีก 6 ราย โดยมาจากอินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา ผลตรวจพบเชื้อทุกราย แต่ไม่มีอาการ ส่วนอีก 2 รายมาจากญี่ปุ่นและมาเลเซีย (ผ่านทางช่องทางธรรมชาติ) ผลตรวจพบเชื้อและมีอาการ

ส่วน 10 อันดับจังหวัดติดเชื้อสูงสุด อันดับ 1 ยังเป็นกทม. 1,557 ราย รวมสะสม 363,414 ราย รองลงมาเป็นสมุทรปราการ 722 ราย รวมสะสม 108,010 ราย ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเกินกว่าแสนราย

อันดับ 3 เป็นชลบุรี 712 ราย ปัตตานี 413 ราย นครศรีธรรมราช 389 ราย ยะลา 291 ราย สงขลา 281 ราย นครราชสีมา 275 ราย และระยอง 259 ราย

ไร้หญิงท้องเสียชีวิต-ไม่มีตายที่บ้าน

สำหรับผู้เสียชีวิตจำนวน 129 รายในวันนี้ เป็นชาย 65 คน หญิง 64 คน ค่ามัธยฐานของอายุอยู่ที่ 71 ปี (25-96 ปี) และยังเป็นกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 96 ราย คิดเป็น 74% อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 19 ราย รวม 2 กลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 89% และปัจจัยเสี่ยงยังมาจากโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วน โรคไต

และเมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า ผู้เสียชีวิตวันนี้อยู่ใน กทม.จำนวน 25 ราย ซึ่งลดลงจากก่อนหน้า สมุทรปราการ 5 ราย สมุทรสาคร 3 ราย นครปฐม 3 ราย ปทุมธานี 3 ราย ยะลา 5 ราย ชลบุรี 11 ราย อุดรธานี 7 ราย ราชบุรี 8 ราย จันทบุรี 5 ราย

ที่เหลือกระจายไปในอีกหลายจังหวัดเฉลี่ย 1-4 ราย (ตามกราฟิก) และวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตที่บ้าน รวมถึงไม่มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต

จังหวัดชายแดนใต้ป่วยเพิ่ม 1,331 ราย

ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในภาพรวมของประเทศ เทียบกับต่างจังหวัด (67 จังหวัด) กับพื้นที่ กทม.และปริมณฑล พบว่า ภาพรวมลดลง โดย พื้นที่ 67 จังหวัดอยู่ที่ 5,183 ราย คิดเป็นสัดส่วน 57% ส่วนกทม.และปริมณฑลอยู่ที่ 2,696 ราย คิดเป็นสัดส่วน 29% ขณะที่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวน 1,331 ราย คิดเป็นสัดส่วน 14%

วานนี้ (27 ก.ย.) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวในเชิงเป็นห่วงว่า การติดเชื้อตัวเลขโดยรวมกรุงเทพฯและปริมณฑล และต่างจังหวัดดูเหมือนลดลง แต่ว่าตัวเลขที่น่ากังวลใจคือ จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งตอนนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไปอยู่ในพื้นที่ เพื่อไปดูแลสั่งการในเรื่องของการติดเชื้อในพื้นที่ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยลง