WHO ยกระบบดูแลวัคซีนไทย มีประสิทธิภาพระดับ 3

WHO ยกระบบดูแลวัคซีนไทย มีประสิทธิภาพระดับ 3 รองอันดับสูงสุด
ภาพจากเฟซบุ๊ก กระทรวงสาธารณสุข

องค์การอนามัยโลก ยกระบบดูแลวัคซีนไทย มีประสิทธิภาพระดับ 3 รองอันดับสูงสุด เทียบ กาน่า-อินเดีย-อินโดนีเซีย-เซอร์เบีย-แทนซาเนีย-เวียดนาม 

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กเพจ ไทยคู่ฟ้า เปิดเผยว่า WHO ยกระดับระบบดูแล “วัคซีนโควิด” ของไทยมีประสิทธิภาพ ระดับ 3

มีเนื้อหาระบุว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้ระบบการกำกับดูแลวัคซีนของไทย (Thailand’s National Regulatory Authority (NRA) for vaccine) อยู่ในระดับที่ 3  (ระดับวัดมี 1 ถึง 4 สูงสุดคือระดับ 4) ในการกำกับดูแลวัคซีนระดับชาติ ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

โดยประเมินผ่านเครื่องมือ Global Benchmarking Tool (GBT) ที่คำนึงถึงคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพ จึงถือว่าระบบการกำกับดูแลวัคซีนมีเสถียรภาพ มีการบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบ

ที่ผ่านมา ไทยได้ปรับปรุงระบบการกำกับดูแลวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการวัคซีนภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก สะท้อนถึงศักยภาพของไทยในการเป็นหน่วยงานที่ได้รับความไว้วางใจ สามารถส่งออกวัคซีนที่ผลิตภายในประเทศได้ รวมถึงมีส่วนสนับสนุนการจัดหาวัคซีนในระดับภูมิภาคและระดับโลก

4 ระดับ มีเกณฑ์อย่างไร ?

อย่างไรก็ตาม “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ผลการประเมิน GBT จะแสดงเป็นระดับ 1 ถึง 4 โดย

  • ระดับ 1 หมายถึงองค์ประกอบบางอย่างของระบบการกำกับดูแลที่มีอยู่
  • ระดับ 2 หมายถึงระบบการกำกับดูแลระดับชาติที่กำลังพัฒนา ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลที่จำเป็นบางส่วน
  • ระดับ 3 เป็นการยืนยันว่าระบบการกำกับดูแลที่มีเสถียรภาพ ทำงานได้ดี และบูรณาการอยู่ในสถานที่
  • ระดับ 4 ระดับสูงสุด ทำได้โดยระบบการกำกับดูแลที่ทำงานในระดับขั้นสูงของประสิทธิภาพและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ประเทศร่วมอันดับ

WHO เปิดเผยด้วยว่า ประเทศไทย ถูกบรรจุรายชื่อไว้ในการดำเนินงานด้านกฎระเบียบแห่งชาติไว้ที่ “ระดับ 3” ภายใต้หน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนโดยองค์การอนามัยโลก (WHO-listed authority (WLA)) โดยรายชื่อนี้เปิดเผยหลักฐานสำหรับงานกำกับดูแลทั้ง 116 แห่ง ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกว่าได้มาตรฐานจาก WHO และแนวปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 117 แห่ง

การแต่งตั้งหน่วยงานกำกับดูแลนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงและการจัดหายาและวัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และได้คุณภาพ โดยการจัดอันดับ มีดังนี้

  • ประเทศกาน่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) กาน่า ได้การรับรองระดับ 3 ด้านการผลิตยาและวัคซีน (ไม่ได้ผลิตเอง) ถูกแต่งตั้งในปี 2563
  • ประเทศอินเดีย องค์กรควบคุมมาตรฐานยากลาง (CDSCO) ได้การรับรองระดับ 3 ด้านการผลิตวัคซีน ถูกแต่งตั้งในปี 2560
  • ประเทศอินโดนีเซีย National Agency of Drug and Food Control (BADAN POM)  ได้การรับรองระดับ 3 ด้านการผลิตวัคซีน ถูกแต่งตั้งในปี 2562
  • ประเทศเซอร์เบีย Medicines and Medical Devices Agency (ALIMS) ได้การรับรองระดับ 3 ด้านการผลิตวัคซีน ถูกแต่งตั้งในปี 2562
  • ประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ไทย ได้การรับรองระดับ 3 ด้านการผลิตยาและวัคซีน ถูกแต่งตั้งในปี 2564
  • สาธารณรัฐแทนซาเนีย Tanzania Medicines and Medical Devices Authority (TMDA) ได้รับการรับรองระดับ 3 ด้านการผลิตยาและวัคซีน (ไม่ได้ผลิตเอง) ถูกแต่งตั้งในปี 2561
  • ประเทศเวียดนาม Preventive Medicine (GDPM) ได้รับการรับรองระดับ 3 ด้านการผลิตวัคซีน ถูกแต่งตั้งในปี 2563