ศบค.เกาะติดโควิดชายแดนใต้ ตายพุ่ง 21 ราย 5 จังหวัดป่วย 2,918 คน

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

ศบค.รายงานวิกฤตโควิด “ชายแดนใต้” ป่วย-ตาย พุ่งสูง “ยะลา-นครศรีธรรมราช-ปัตตานี-สงขลา-นราธิวาส” ยอดเสียชีวิต 21 ราย จาก 8 จังหวัดใต้ พบผู้เดินทางจาก “มาเลเซีย” แพร่เชื้อ “ประยุทธ์” แต่งตั้ง “พล.อ.ณัฐพล” นั่ง ผอ.ศบค.ส่วนหน้า เกาะติดแก้ปัญหาโควิดใต้ 

วันที่ 18 ตุลาคม 2564 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 10,111 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 10,046 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 24 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 41 ราย

ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,764,949 ราย หายป่วยเพิ่ม 10,612 ราย หายป่วยสะสม 1,640,824 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี’63 1,668,250 ราย

วันนี้มีผู้เสียชีวิต 63 คน เสียชีวิตสะสม 18,242 คน เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี’63 รวม 18,336 คน ส่วนผู้ป่วยรักษาอยู่ 107,226 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 41,894 ราย โรงพยาบาลสนาม 65,332 ราย อาการหนัก 2,831 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 644 ราย

ห่วงชายแดนใต้ ติดเชื้อเพิ่ม 23%

แนวโน้มการติดเชื้อในประเทศ (จากกราฟด้านล่าง) แบ่งเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑล (กราฟเส้นสีน้ำเงิน) จะเห็นว่า มีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง 16% ซึ่งเป็นทิศทางการลดลงของการติดเชื้ออย่างชัดเจน ขณะที่ต่างจังหวัด (กราฟเส้นสีเขียว) มีทิศทางลดลงเช่นเดียวกัน แต่เป็นการลดลงอย่างช้า ๆ

สำหรับการติดเชื้อในชายแดนใต้ (กราฟเส้นสีส้ม) มีทิศทางการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว 16-17% แต่วันนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 23% ซึ่งมีความน่าเป็นห่วง โดย ศบค.ชุดเล็ก ได้มีการหารือ วิเคราะห์สาเหตุการติดเชื้อในชายแดนภาคใต้

ภาคใต้ตายเพิ่ม 21 ราย “นครศรีธรรมราช” มากสุด 8 คน

ขณะเดียวกัน การติดเชื้อในชายแดนภาคใต้ เป็นไปเช่นเดียวกับจำนวนผู้เสียชีวิตในวันนี้ 63 ราย โดยมีรายงานเสียชีวิตจากภาคใต้ถึง 21 ราย จากนครศรีธรรมราช 8 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 3 ราย ภูเก็ต 3 ราย สุราษฎร์ธานี และนราธิวาส จังหวัดละ 2 ราย ยะลา ชุมพร และสตูล จังหวัดละ 1 ราย

ทั้งนี้ 94% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ก็ยังมาจากผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จำนวน 44 ราย คิดเป็น 70% อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 15 ราย คิดเป็น 24% ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 4 ราย คิดเป็น 6%

5 จังหวัด “ใต้” ติดท็อปลิสต์พบเชื้อมากสุด

การรายงาน 10 จังหวัด ที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด ยังเป็นกรุงเทพมหานคร 1,046 ราย ส่วนลำดับที่ 2-6 เป็นจังหวัดในภาคใต้ทั้งสิ้น ได้แก่ ยะลา 756 ราย นครศรีธรรมราช 615 ราย สงขลา 579 ราย ปัตตานี 502 ราย และนราธิวาส 466 ราย ตามลำดับ ส่วนลำดับที่ 7 ระยอง 402 ราย ชลบุรี 354 ราย เชียงใหม่ 314 ราย และสมุทรปราการ 247 ราย

พบผู้เดินทางจาก “มาเลเซีย” แพร่เชื้อภาคใต้

เมื่อมีการวิเคราะห์ถึงการติดเชื้อที่อยู่ในจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดในภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงกลางเดือนตุลาคม 2564 จะพบว่า ปัจจัยเสี่ยงนอกจากมาจากสถานบันเทิงเป็นแห่งแรกแล้ว ยังมาจากเรือนจำ ผู้ต้องขัง โรงงาน ผู้มีอาการทางเดินหายใจ ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง

นอกจากนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อในจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี

เฝ้าระวังคลัสเตอร์ 10 จังหวัดต่อเนื่อง

สำหรับคลัสเตอร์อื่น ๆ ใน 10 จังหวัดที่พบติดเชื้อมากที่สุด ที่ยังคงให้ความสำคัญและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง คือ คลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง จ.จันทบุรี ระยอง ส่วนใน จ.ชลบุรี พบว่าติดเชื้อจากสหกรณ์กองทุนสวนยาง และยังมีจากล้งผลไม้ ที่พบมากใน จ.จันทบุรี

ในส่วนของคลัสเตอร์งานศพ ยังคงมีต่อเนื่อง และมีอีกหลายจังหวัด ได้แก่ ลำพูน ขอนแก่น เลย สระแก้ว และกาญจนบุรี

นายกฯตั้งศูนย์คุมโควิดใต้ ตั้ง “พล.อ.ณัฐพล” นั่ง ผอ.ศบค.ส่วนหน้า

ขณะที่สถานการณ์การติดเชื้อภาคใต้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ จากที่รายงานวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสงขลา โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เริ่มมีผลบังคับใช้วันนี้ (18 ต.ค.)

นอกจากศูนย์ดังกล่าวแล้ว ทาง ศบค.ชุดเล็ก ยังหารือถึงการส่งผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมควบคุมโรค ลงไปช่วยในการสอบสวนโรคในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มเติมด้วย

นับถอยหลัง 2 สัปดาห์ “เปิดประเทศ”

แพทย์หญิงสุมนีระบุว่า นอกจากปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ยังได้หารือถึงเรื่องการเปิดประเทศ ซึ่งนับจากวันนี้ (18 ต.ค.) มีระยะเวลาในการเตรียมตัวเพียง 2 สัปดาห์ ก่อนจะถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน โดยแผนการเปิดประเทศมีการพูดคุยหารือจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น ศบค. กระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ได้เตรียมความพร้อมก่อนที่จะออกแผนการท่องเที่ยวมานานแล้ว และมีการปรับหลายครั้ง

มีการหารือกับภาคธุรกิจ สถานประกอบการ อาจจะไม่มีรูปแบบที่ดีที่สุด หรือสมบูรณ์ที่สุด แต่ต้องมีความเป็นไปได้มากที่สุด ที่จะดำเนินมาตรการไปได้ด้วยการที่ประชาชนจะต้องมีความปลอดภัย และระบบสาธารณสุขมีความมั่นคง

การระบุรายชื่อประเทศ หรือเที่ยวบิน ตามข้อเท็จจริงแล้ว บางประเทศยังไม่ได้เปิดให้คนออกนอกประเทศตัวเอง แต่การเปิดเที่ยวบิน เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทยในประเทศนั้น ๆ เพื่อให้เดินทางกลับบ้านได้สะดวกขึ้น แต่ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด

เตรียมพร้อม 3 ด้าน รับ “เปิดประเทศ”

นอกจากนี้ แพทย์หญิงสุมนีระบุอีกว่า ยังมีการหารือการเปิดประเทศเป็นระยะ ๆ โดยจะต้องมีความพร้อม 3 ด้านด้วยกัน ด้านแรก คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดต้องทรงตัวหรือคงตัว

ด้านที่ 2 คือ จะต้องพิจารณาถึงขีดความสามารถของสาธารณสุข ว่ามีความพร้อม ทั้งในเรื่องป้องกัน การควบคุม และการรักษา

ด้านที่ 3 คือ พื้นที่นำร่อง สีฟ้า 15 จังหวัด จะต้องมีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่า 70%

“ดังนั้นการเปิดประเทศต้องค่อยเป็นค่อยไป และต้องทยอยเปิด ถ้าเกิดว่าพร้อมก่อนก็เปิดก่อน โดยมาตรการหลักในการเปิดจะต้องอยู่ภายใต้มาตรการ COVID free setting ขณะนี้เราอยู่ในระยะนำร่องของการเปิดประเทศ และได้มีการเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์มาแล้ว ซึ่งภูเก็ตแซนด์บอกซ์ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่จะดำเนินการเปิดประเทศในจังหวัดที่เป็นจังหวัดนำร่องพื้นที่สีฟ้าอื่น ๆ ในระยะถัดไป”

หลักการการเปิดประเทศระยะที่ 1 จะต้องมาจากประเทศที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดที่มีความเสี่ยงต่ำ และจะต้องเดินทางมาจากทางอากาศเท่านั้น หรือทางเครื่องบิน มีเอกสารรับรองการรับวัคซีนครบ 2 เข็ม ตามที่ราชการกำหนด ต้องมีผลตรวจโควิดด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบ พร้อมทั้งต้องทำประกันสุขภาพอย่างน้อย 5 หมื่นเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อมาถึงเมืองไทยแล้ว จะต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น OQ, ASQ หรือโรงแรมชาพลัสที่มีศูนย์โรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ และเมื่อผลเป็นลบจึงจะเดินทางเข้าพื้นที่สีฟ้าที่เป็นพื้นที่นำร่องได้