สมาคมแท็กซี่ 150 คน ยื่นรัฐมนตรีคมนาคม ขอยกเลิกติดจีพีเอส-กล้องในรถ ชี้มีราคาแพง

วันที่ 28 พ.ย. ที่กระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนิน มีตัวแทนจากสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ ประมาณ 150 คน ได้เดินทางมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เรียกร้องขอให้กระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงคมนาคม พ.ศ.2560 ว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน โดยนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วย รมว.คมนาคม ได้เป็นตัวแทนรับหนังสือ

นายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่แท็กซี่ กล่าวว่า ขณะนี้แท็กซี่ส่วนบุคคลประมาณ 1 หมื่นคันเดือดร้อน ไม่สามารถนำรถมาจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ เพราะไม่มีเงินเพียงพอที่จะนำรถแท็กซี่ไปติดตั้งอุปกรณ์และส่วนควบตามที่กฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (แท็กซี่) พ.ศ.2560 ซึ่งกำหนดให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคันจะต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ GPS Tracking พร้อมอุปกรณ์แสดงตัวผู้ขับรถ , มาตรค่าโดยสาร, ปุ่มฉุกเฉินสำหรับผู้โดยสาร และกล้องบันทึกภาพภายในรถแบบ Snap Shot รวมทั้งระบบเชื่อมโยงและทำงานร่วมกันได้แบบ Real-time เพื่อส่งข้อมูลไปยังศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่)

“ขณะนี้มีแท็กซี่ส่วนบุคคล 1 หมื่นคัน ที่กรมขนส่งไม่ยอมจดทะเบียนให้ เพราะยังไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ เมื่อนำรถออกไปวิ่งก็โดนตำรวจจับ ทำให้เราเดือดร้อนอย่างหนัก ส่วนเหตุผลที่ยังไม่ติดตั้งก็เพราะว่าอุปกรณ์ทั้งหมดมีราคาแพงมาก เฉพาะอุปกรณ์ประมาณ 2.9 หมื่นบาท/คัน ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตอีกเดือนละ 450-500 บาท และค่าบำรุงระบบรายปีอีก 3,600 บาท/เดือน ในขณะที่รายได้ของแท็กซี่ปัจจุบันก็ลดลง หากจะต้องรับภาระดังกล่าวเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากค่าผ่อนค่างวดรถเดือนละ 18,000 บาท ก็จะกระทบกับความเป็นอยู่ของครอบครัวแท็กซี่ ซึ่งมีรายได้ที่น้อยอยู่แล้ว ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าว”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแท็กซี่ที่ได้รับความเดือดร้อนจดทะเบียนไม่ได้จำนวน 10,000 คัน และสิ้นปีนี้จะมีรถแท็กซี่ที่หมดอายุและต้องจดทะเบียนใหม่อีก 35,000 คัน และจะหมดอายุในปี 2561 ต้องต่อทะเบียนใหม่อีก 40,000 คัน เบื้องต้นคาดว่าภายในปีหน้าจะมีแท็กซี่ที่ได้รับผลกระทบจดทะเบียนไม่ได้รวมประมาณ 80,000 คัน หากกระทรวงคมนาคมไม่เร่งแก้ไขจะทำให้ปัญหาความเดือดร้อนขยายวงกว้างมากขึ้น

นายธีระพงษ์กล่าวว่า กระทรวงได้รับข้อเสนอทั้งหมดของสมาคมฯไว้พิจารณา โดยสั่งการให้กรมการขนส่งทางบกกลับไปศึกษาข้อดีข้อเสียของกฎกระทรวงดังกล่าว และแนวทางในการแก้ปัญหา โดยให้นำกลับมาเสนอให้รองปลัดด้านขนส่ง พิจารณาในสัปดาห์หน้าต่อไป ทั้งนี้ จะต้องใช้เวลาในการพิจารณาด้วยความรอบคอบ เนื่องจากข้อกำหนดดังกล่าวนั้นได้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ไปแล้ว

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์