อนามัยโพล ชี้ 4 จังหวัดชายแดนใต้ 91% กังวลโควิด-เศรษฐกิจซบเซา

อนามัยโพล เผยประชาชน 4 จังหวัดชายแดนใต้ กังวลสถานการณ์โควิดสูง 91% หวั่นติดเชื้อจากคนใกล้ตัว-อัตราการว่างงานพุ่ง เศรษฐกิจซบยาว-คลัสเตอร์การรวมตัว กรมอนามัยแนะเข้มมาตรการ UP ควบคู่ประเมินตนเองผ่านไทยเซฟไทย

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันการแพร่ระบาดโควิดใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความกังวล และต้องป้องกันเฝ้าระวังตนเองอย่างสูงสุด

โดยข้อมูลการสำรวจอนามัยโพล ของกรมอนามัย ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิดในพื้นที่ถึง 91%

สำหรับเรื่องที่กังวลมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลัวจะติดเชื้อจากคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คนในชุมชนราว 27% ลำดับต่อมาเป็นเรื่องการว่างงานขาดรายได้ เศรษฐกิจซบเซา 24.6% และกังวลการรวมกลุ่มของคนในชุมชน จะทำให้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ถึง 19.6%

ส่วนการสำรวจด้านการป้องกันตนเองตามมาตรการ UP (Universal Prevention) พบว่า มีการสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อไปในที่สาธารณะ 96.6% กลุ่มเสี่ยงเลี่ยงออกนอกบ้าน 89.6% และ ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำ/เจลแอลกอฮอล์ 88.9%

ขณะที่การสวมหน้ากากเมื่ออยู่กับคนในบ้านและออกจากบ้านเมื่อจำเป็น ยังทำได้น้อยเพียง 63.2%

ด้านพฤติกรรมการเฝ้าระวังความเสี่ยงตนเอง พบว่า มีการเฝ้าระวังความเสี่ยงตนเองเป็นประจำ โดยวิธีการสังเกตอาการตนเองเบื้องต้นมากที่สุด 84.9%

ถัดลงมา คือ มีการตรวจวัดอุณหภูมิตนเอง 70.9% ขณะที่การประเมินความเสี่ยงตนเองผ่านระบบ “ไทยเซฟไทย” พบเพียง 44.7% เท่านั้น

ดังนั้น จึงต้องเน้นย้ำให้ทุกคนประเมินผ่านระบบ “ไทยเซฟไทย” ให้มากขึ้น ควบคู่กับการปฏิบัติตามมาตรการ UP (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องป้องกันตนเองขั้นสูงสุด ทั้งในที่สาธารณะและบ้าน เพื่อป้องกันการรับสัมผัสและแพร่ระบาดโรคโควิด-19

โดยสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากาก ใบหน้า ตา ปาก จมูก

สำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง ให้เลี่ยงออกนอกบ้าน ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวที่สัมผัสบ่อย ๆ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น งดกินข้าวร่วมกัน เลือกกินอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรตรวจด้วย ATK หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน และออกจากบ้านเมื่อจำเป็น