สธ.เตรียมออก “100 ตำรับ” ยาแผนไทยใช้ควบคู่ยาแผนปัจจุบันอีก 3 เดือน

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2560 ว่าปัจจุบันตำราการแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยของชาติ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มีทั้งสิ้น 12 ฉบับ จำนวน 198 ตำราการแพทย์แผนไทย 14,988 ตำรับ นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ได้คัดเลือกและกลั่นกรองตำรับยาแผนไทย จากตำราการแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยของชาติ หมอพื้นบ้าน และบัญชียาหลักแห่งชาติ ในรอบ 9 เดือนนี้ มีมติเห็นชอบตำรับยาแผนไทย 4 กลุ่มโรค คือกลุ่มโรคโลหิตระดูสตรี กลุ่มโรคเด็ก กลุ่มโรคลม และกลุ่มโรคไข้ รวม 42 ตำรับ

“ยังตั้งเป้าเพิ่มจนครบ 100 ตำรับในอีก 3 เดือน เพื่อนำองค์ความรู้ในตำราการแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยของชาติไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนำไปบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนของแพทย์แผนไทย เป็นฐานข้อมูลหลักฐานในการตรวจสอบอ้างอิงการขึ้นทะเบียนตำรับยาไทยกับอย. ผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อให้โรงพยาบาลนำไปใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน และจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ” นพ.ปิยะสกลกล่าว

สำหรับตำรับยาแผนไทยที่ได้รับคัดเลือก 42 ตำรับ ประกอบด้วย 1.ยาหอมน้อย 2.ยาแก้ตานซาง 3.ยาแก้ทรางเพลิง 4.ยาแผ้วฝ้า 5.ยาแก้คอ แก้ไอ แก้อาเจียน แก้สะอึก 6.ยาแก้ระดูขัด 7.ยาแก้หญิงไม่มีระดูผอมแห้ง 8.ยาศุภมิตร 9.ยาครรภ์รักษา 10.ยาหญิงมีครรภ์ได้ 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือนแม่เป็นพรรดึก 11.ยากินเมื่อคลอดลูก 12.ยาแก้อยู่ไฟไม่ได้ 13.ยาจำเริญอายุวัฒนะ 14.ยาหอมทิพโอสถ 15.ยาหอมเทพจิตร 16.ยาหอมนวโกฐ 17.ยาหอมอินทจักร์ 18.ยาจันทลีลา 19.ยาประสะจันทน์แดง 20.ยาแสงหมึก 21.ยาตรีหอม 22.ยาเขียวหอม 23.ยาประสะเปราะใหญ่ 24.ยาประสะกะเพรา 25.ยามหาจักรใหญ่ 26.ยามหานิลแท่งทอง27.ยากำลังราชสีห์ (ยาต้ม) 28.ยากำลังราชสีห์ (ยาผง) 29.ยาบำรุงเลือด 30.ยาต้มบำรุงเลือด 31.ยานนทเสน 32.ยาพรหมพักตร์ 33.ยาผายโลหิต 34.ยาสุวรรณเกษรา 35.ยาประสะไพล 36.ยาประสะผิวมะกรูด 37.ยาแก้ไข้ทับระดู/ระดูทับไข้(ขนานที่ 1) 38.ยาแก้ไข้ทับระดู/ระดูทับไข้(ขนานที่ 2) 39.ยาประสะว่านนางคำ 40.ยาปลูกไฟธาตุ 41.ยาต้มประสะน้ำนม และ42.ยาชำระโลหิตน้ำนม

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้กรมบัญชีกลาง มีความต้องการควบคุมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล เนื่องจากที่ผ่านมามีการช็อปปิ้งยา ทางกระทรวงฯ มีนโยบายลดปัญหานี้ด้วยหรือไม่ ในเรื่องการควบคุมการใช้จ่ายยาให้สมเหตุสมผลนั้น ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ก็มีนโยบายในการดูแลเรื่องนี้เช่นกัน โดยมีนโยบายในการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล อย่างหากป่วยเล็กๆน้อยๆ และอาการไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ก็ต้องหลีกเลี่ยง เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะมากๆ มีความเสี่ยงเกิดการดื้อยาได้ ซึ่งสธ.กำลังรณรงค์เรื่องนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีการดำเนินการรณรงค์มาตลอด ทั้ง 1. ผู้ป่วยนอก อย่างการจ่ายยาก็พยายามวินิจฉัย และดูว่าหากไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะก็ไม่ต้องให้ 2.ผู้ป่วยใน ได้กำชับให้แพทย์พิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้ยา และ3. การรณรงค์ให้ประชาชนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มปฏิชีวนะทุกครั้ง โดยเฉพาะการไปซื้อในร้านขายยา

“การใช้ยาสมเหตุสมผลนั้น แนวทางหนึ่ง คือ การหันมาใช้ยาแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นยาที่ผลิตในประเทศ เป็นยาสมุนไพร โดยขณะนี้ในรพ.สังกัดกระทรวงฯ ทุกระดับมีการให้บริการควบคู่การแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อเป็นอีกทางเลือกในการบำบัดรักษา อย่างมีอาการไข้หวัดก็สามารถใช้ฟ้าทะลายโจนได้ แต่การใช้ก็จะมีข้อบ่งชี้ เพราะยาทุกชนิดไม่ใช่ว่าจะใช้ได้อย่างพร่ำเพรื่อ” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ADVERTISMENT

 

ที่มา : มติชนออนไลน์

ADVERTISMENT