เอ็นจีโอผนึกกำลังร่วมต้าน ‘ห้างค้า-ธุรกิจน้ำเมา’ จำหน่ายเหล้าเขตโซนนิ่ง

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ร่วมกับ เครือข่ายมหาวิทยาลัยปลอดเหล้า 80 สถาบัน และภาคีเครือข่ายงดเหล้า จัดเวทีวิพากษ์ประเด็นร้อน“บทเรียนสังคมไทย…เมื่อห้างใหญ่จับมือทุนน้ำเมาเขย่าโซนนิ่ง”ภายในงานมีเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ อาจารย์ นักศึกษา เข้าร่วมกว่า 100 คน

นายฐิติชัย ดุ้งกลาง แกนนำเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากกรณีห้างใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่และตั้งอยู่ในพื้นที่โซนนิ่งใกล้สถานศึกษา ตามคำสั่ง คสช.22/2558 ที่กำหนดห้ามไม่ให้ออกใบอนุญาตขายเหล้าให้รายใหม่ ตามหลักการร้านใหม่ต้องไม่เพิ่มร้านเดิมต้องทำตามกฎหมาย แต่กลับมีข่าวว่า ห้างดังกล่าวมีความพยายามขอให้ร้านค้าภายในห้างสามารถขายเหล้าเบียร์ได้ และก่อนหน้านี้ได้มีการเผยแพร่กำหนดการจัดลานเบียร์ยี่ห้อดังอีกด้วย ทั้งๆที่พื้นที่ใกล้กับสถานศึกษา เครือข่ายเยาวชนฯยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้มีการดำเนินการเช่นนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านและให้ข้อมูลกับทางกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงมหาดไทย รวมถึงนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ไว้แล้ว เพื่อให้ดำเนินการป้องกันและจัดการปัญหานี้

นายดำเกิง โถทอง อาจารย์คณะมนุษย์ศาตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ในฐานะที่ปรึกษาเครือข่ายมหาวิทยาลัยปลอดเหล้าอีสานล่าง กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้ เครื่องมือสำคัญที่จะต่อสู้ รับมือ คือ การใช้พลังโซเชียลมีเดีย ให้สังคมเห็นถึงผลกระทบจากธุรกิจน้ำเมาที่เข้าครอบครองสถานศึกษา สูบเม็ดเงินจากกระเป๋านักศึกษามาอย่ายาวนาน ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลไหนสามารถแก้ปัญหาได้ แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้เครื่องมือที่สำคัญมากในการป้องกันแก้ไขปัญหา คือ โซนนิ่ง ซึ่งได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของคณะทำงาน 6 หน่วยงานประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติพรรม กรมสรรพสามิต และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงควรช่วยกันปกป้องกฎหมายนี้มิให้นายทุนหรือใครมาทำลาย

“ปัญหาสำคัญของการเขตโซนนิ่ง คือทุกวันนี้นักศึกษาที่พักในหอพักไม่ได้ไปซื้อน้ำเมาจากร้านสะดวกซื้อหรือร้านเหล้าโดยตรง แต่จะไปซื้อจากร้านขายของชำ ร้านส้มตำ หรือร้านอาหาร ที่ไม่ได้จำกัดเวลาในการขาย หนำซ้ำยังมีการส่งแบบเดลีเวอรีอีกด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการบังคับใช้ในเรื่องนี้ให้มากขึ้น อย่างน้อยให้ชาวบ้านในละแวกทราบว่าตัวเองอยู่ในเขตโซนนิ่ง เพื่อเป็นหูเป็นตาในการตรวจตราการทำความผิด ซึ่งทางเครือข่ายฯ ก็มีการหารือกันร่วมกับภาคประชาสังคม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และสถานศึกษาต่างๆ ว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดการรับรู้เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งก็ได้มีการช่วยกันทำป้ายแสดงอาณาเขตโซนนิ่ง อย่างไรก็ตามอาจารย์ก็ต้องมีการสอดส่องดูแลเด็ก จะมาใช้วาทกรรมว่า ดูแลได้แค่ในมหาลัย หลังจากนั้นก็ไม่สามารถตามได้ก็ไม่ถูก เพราะการเป็นอาจารย์ต้องเป็น 24 ชั่วโมงสมกับที่ผู้ปกครองนักศึกษาไว้ใจให้ดูแลแทน” นายดำเกิง กล่าว

นายอาคม อ่วมสำอางค์ ผู้แทนกรมสรรพสามิต กล่าวว่า หากพบว่า ยืนยันว่า ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใหม่ในเขตโซนนิ่งได้อยู่แล้ว โดยในปัจจุบันในโคราชมีร้านเหล้าอยู่ในเขตโซนนิ่งที่ได้รับอนุญาตของผู้ประกอบการรายเก่าจำนวน 25,000 แห่งจาก 500,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนก็จะถูกปิดถาวรและไม่สามารถขอใบอนุญาตได้ใหม่ในบริเวณแผนผังเดิม ตามหลักการร้านใหม่ต้องไม่เพิ่มร้านเดิมต้องทำตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามหากพบว่ามีการขายเหล้าเบียร์ในเขตโซนนิ่งโดยผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งขัดกับคำสั่งของ คสช.22/2558 ทางเครือข่ายฯสามารถ แจ้งความดำเนินคดีได้ทันที ตามกฎหมายสรรพสามิต มีโทษหนัก ปรับ 20,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 1 ปี และทางเจ้าหน้าที่หากมีการเผลอออกใบอนุญาตให้รายใหม่ ก็จะต้องมีโทษทางคดีอาญาเช่นกัน

 

ที่มา มติชนออนไลน์