เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร่อนแถลงการณ์ 3 ข้อจี้รัฐยกเลิกข้อจำกัดสิทธิสตรี

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 29 พฤศจิกายน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กรโพรเทกชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย จัดทำ Side by Side WHRDs 2018 Diary สมุดบันทึกความหวังและความฝันของ 20 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนขึ้น เนื่องด้วยวันที่ 29 พฤศจิกายนของทุกปีได้ถูกกำหนดให้เป็นวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากล

ภายในงาน นางรอกีเย๊าะะมะแอ เครือข่ายฅนรักษ์เมืองเทพา จ.สงขลา กล่าวพร้อมกับร่ำไห้ถึงกรณีเหตุปะทะระหว่างเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กับฝ่ายความมั่นคง ระหว่างการดักรอยื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จ.สงขลา จนทำให้แกนนำถูกจับกุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหารวม 16 คน รวมถึงเยาวชนหนึ่งคนว่า ที่ทุกคนในพื้นที่ต้องออกมาต่อสู้ก็เพราะว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้ต้องเผาถ่านหินตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้ถ่านหินถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัม มลพิษเหล่านี้สามารถอยู่ในอากาศได้นานถึง 10 วัน โดยผลกระทบเหล่านี้จะกินพื้นที่ไปถึง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาเราพยายามส่งเสียงเรื่องนี้มาตลอด 3 ปี พยายามบอกว่าเราเดือดร้อน ล่าสุดพี่น้องเดินเท้าจากเทพาไปก็ต้องถูกจับ ทำเหมือนเราเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ตอนนี้ยังไม่มีเงินประกันตัวต้องอยู่ในศาลอีก 15 คน เราอยากให้นายกฯฟังเรา เราเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาที่ไม่อยากเป็นเหมือนชาวโรฮิงญาไร้ที่อยู่ อย่างไรก็ตามจะสู้ต่อไปเพราะไม่เช่นนั้นสิ่งที่ทำมาตลอดก็สูญเปล่า

ทั้งนี้ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.รัฐต้องยุติวัฒนธรรมทำผิดแล้วลอยนวลพ้นผิด การเลือกปฏิบัติและการใช้หลักนิติธรรมเป็นข้ออ้างในการจัดการกับประชาชน และปฏิเสธไม่ให้ประชาชนเข้าความยุติธรรม รวมถึงต้องมีกระบวนการทบทวนอย่างโปร่งใสในกรณีที่มีการใช้คดีเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

2.รัฐและสาธารณชนต้องยอมรับและตระหนักถึงคุณค่าของบทบาทที่สำคัญของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและต้องมีหลักประกันว่าจะมีการปกป้องคุ้มครองและสนับสนุนอย่างเต็มเพื่อเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิตของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

3. รัฐต้องยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงต่อการทำงานของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มาตรา 44 คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และคำสั่งและกฎหมายอื่นๆ โดยเฉพาะการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะและเสรีภาพในการแสดงออก การจำกัดสิทธิที่สำคัญเหล่านั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดกับสิ่งที่รัฐบอกว่าปรารถนาให้มีส่วนร่วมจากประชาชน

 

ที่มา มติชนออนไลน์