วัคซีน ChulaCov19-mRNA คืบหน้า ต้านทุกสายพันธุ์ จ่อลงตลาดปี 65

วัคซีนจุฬา
ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ

จุฬาฯ เผย คืบหน้าวัคซีน ChulaCov19 – mRNA ต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ จ่อลงตลาดปี 65

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 รายงานข่าวจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเสวนา Chula The Impact “ความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของจุฬาฯ นวัตกรรมของไทย ความหวังของโลก” ทั้งวัคซีน ChulaCov19 วัคซีนชนิด mRNA ประสิทธิภาพสูง โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตสกัดจากใบพืชชนิดแรกของไทย โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬา

ล่าสุด ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ระบุว่า การพัฒนาวัคซีน ChulaCov 19 วัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ซึ่งเริ่มดำเนินการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1/2 ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีการทดสอบในอาสาสมัคร 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 ราย และกลุ่มอายุ 56-75 ปี จำนวน 36 ราย ฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์

ผลเบื้องต้นในกลุ่มอายุ 18-55 ปี พบว่า วัคซีนกระตุ้นภูมิกันได้ดี ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง โดยอาสาสมัครมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการจะดีขึ้นภายใน 1 ถึง 2 วัน นอกจากนี้ยังได้ทดสอบในกลุ่มอายุ 55-75 ปี รวมทั้งอยู่ในระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเตรียมการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ต่อไป

นอกจากนี้ ยังพร้อมเตรียมความพร้อมขยายกำลังการผลิตวัคซีน โดยคาดว่าจะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้กับบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรมในประเทศได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 และยังมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่ตอบสนองต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์อีกด้วย

“ข้อจำกัดในตอนนี้คือ ในประเทศยังไม่มีแพลตฟอร์มของตัวเอง จึงต้องจ้างผลิต และต้องใช้เวลาในการ Tranfer เทคโนโลยีจากเครือข่ายต่าง ๆ ที่มีความร่วมมือกันอยู่ทั่วโลก จากนั้นเริ่มผลิตเดือนกรกฎาคม จนถึงตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ระยะที่ 2 ต้องรอการทดสอบในคน และวิเคราะห์รายละเอียดทั้งหมดที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะพัฒนาวัคซีนรุ่นต่อไป” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ขณะที่ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ CEO & Co Founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้ร่วมคิดค้นวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ (วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา) กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบสปีชีส์ “N. benthamiana” ซึ่งใช้ระบบการผลิต recombinant protein โดยการตัดต่อพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ก่อโรคในพืชในใบยาสูบ

ปัจจุบันได้ดำเนินการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนจากระบบดังกล่าว คาดว่าจะมีกำลังการผลิตจำนวน 1-5 ล้านโดสต่อเดือน ส่วนวัคซีนอยู่ในระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยได้เริ่มฉีดให้กับอาสาสมัครตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การทดสอบในมนุษย์ของวัคซีนใบยามี ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ร่วมเป็นนักวิจัยทางคลินิกด้วย นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง โดยปรับปรุงสูตรให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และมีการพัฒนาจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์มากกว่า 10 รูปแบบ เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนผสม (Cocktail vaccine) ซึ่งวัคซีนรุ่นที่สองนี้ อยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลอง

การวิจัยและพัฒนาครั้งนี้มันเป็นทีมประเทศไทครั้งสำคัญที่ใช้เวลาและใช้นักวิจัยกว่า 100 ที่ประสานงานทุกขั้นตอน เพื่อใช้ศักยภาพการพัฒนาวัคซีนให้ได้ตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ความคาดหวังของทีมคือ จะต้องนำมาใช้กับคนได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 65 ได้


“มีข้อกังวลของทีมวิจัยก็คือ ต่อให้เราวิจัยได้ครบทั้งความปลอดภัยและคุณภาพสูงอย่างไรก็ตาม แต่ก็อาจจะโรงงานใดที่รับนำไปผลิตได้อยู่ดี ซึ่งเป็นประเด็นที่คนมักลืม เพราะการสร้างโรงงานผลิตยาต้องมีคุณภาพสูง และการใช้งบประมาณก็สูงมากขึ้นไปด้วย ฉะนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือไม่ว่าจะจากภาครัฐ เอกชน และพาร์ทเนอร์ทั่วโลกที่เรามีอยู่เช่นกัน”