ศบค.เร่งตามกลุ่มเสี่ยงโอไมครอน 786 คน ระบาดแล้ว 39 ประเทศ

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์

ศบค.เผยเจอโควิดกลายพันธุ์ “โอไมครอน” ระบาดแล้วใน 39 ประเทศ ระบุผู้ที่เดินทางเข้าไทยมี 2 กลุ่ม เสี่ยงสูง 333 ราย เสี่ยงต่ำ 453 ราย รวมสองกลุ่ม 786 ราย เร่งติดตามตัวตรวจซ้ำ ขณะที่คลัสเตอร์ใหม่ในไทยพบ 7 คลัสเตอร์ แต่ยอดผู้ติดเชื้อไม่มาก ส่วนผลตรวจ ATK-PCR ภาพรวมลดลงทั้งประเทศ

วันที่ 3 ธันวาคม 2564 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การติดเชื้อประจำวันว่า วันนี้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลกมียอดผู้ติดเชื้อรวม 264,439,993 ราย อาการรุนแรง 87,000 ราย รักษาหายแล้ว 238,471,087 ราย และเสียชีวิต 5,249,487 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับ 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 49,716,825 ราย 2. อินเดีย จำนวน 34,609,741 ราย 3. บราซิล จำนวน 22,118,782 ราย 4. สหราชอาณาจักร จำนวน 10,329,074 ราย 5. รัสเซีย จำนวน 9,703,107 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,130,641 ราย

ยอดป่วยยุโรปพุ่ง

ถ้าดูในประเทศ 20 อันดับแรก (แถบสีเหลือง) จะพบว่าเป็นประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อสูงในหลักหลายหมื่นราย อันดับหนึ่ง ยังเป็นสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นกว่า 1.3 แสนราย เสียชีวิต 1,264 คน อันดับ 4 เป็นสหราชอาณาจักร ยอดติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 53,945 ราย อันดับ 5 รัสเซีย เพิ่มขึ้น 33,389 ราย อันดับ 6 เป็นตุรกี อันดับ 7 เป็นฝรั่งเศส และอันดับ 9 เยอรมนี เพิ่มขึ้นมากกว่า 73,486 ราย และประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง ยังมีโปแลนด์ 27,356 ราย รวมถึงเนเธอร์แลนด์ที่เพิ่มขึ้นมา 23,043 ราย

“เมื่อมาดูประเทศที่พบสายพันธุ์กลายพันธุ์โอไมครอน วันนี้มีรายงานพบใน 39 ประเทศ โดยมีประเทศที่พบโอไมครอนเพิ่มเติม ได้แก่ กานา นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE) ซาอุดิอาระเบีย และอินเดีย (ตามตาราง)” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

โอไมครอนลาม 39 ประเทศ

“39 ประเทศที่พบโอไมครอนวันนี้ ส่วนใหญ่แล้ว เป็นการพบการนำเข้าจากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศนั้น ๆ เช่นสหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาใต้แล้วเข้าไปที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ซาอุดิอาระเบียพบผู้ติดเชื้อที่มาจากแอฟริกาตอนเหนือ ส่วนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นผู้ที่เดินทางมาจากอาหรับและเป็นรายแรกของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย”

อย่างไรก็ตามในจำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนใน 39 ประเทศคิดแล้วก็ยังไม่ถึง 1% ของผู้ติดเชื้อในประเทศนั้น ๆ แสดงว่ายังไม่มีการติดเชื้อโอไมครอนในประเทศกันเอง

เร่งตามตัวกลุ่มเสี่ยง 786 คน

สำหรับมาตรการการป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนในบ้านเรา ซึ่งมีประกาศออกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ได้มีการรับนักเดินทางจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากประเทศแอฟริกาใต้ที่เดินทางมาก่อนหน้านี้มีการติดตามมาเป็นระยะ ๆ

ทั้งนี้ในส่วนของผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในแอฟริกาที่เดินทางเข้ามาในไทย ในช่วงวันที่ 15 – 27 พ.ย. และ 15 พ.ย. – 5 ธ.ค.2564 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกมาจากกลุ่มเสี่ยงสูง 8 ประเทศ ที่เดินทางมาในช่วง 15 – 27 พ.ย. มีทั้งหมด 333 คน

และในจำนวนนี้เข้ามาทางกรุงเทพฯ และภูเก็ตยังแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ที่ออกจากประเทศไทยไปแล้ว มีทั้งหมด 61 คน กลุ่มครบ 14 วัน ซึ่งไม่ต้องตามแล้ว มีจำนวน 105 คน และยังไม่ครบ 14 วัน หลังออกจากแซนด์บ็อกซ์ หรือสถานที่กักกันตัว มีทั้งหมด 167 คน

“กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เราจะต้องติดตามเพื่อให้เขาเหล่านี้มาตรวจ PCR ซ้ำ โดยมีการส่งข้อความให้คนกลุ่มนี้เข้ามาตรวจ PCR ซ้ำอย่างเร็วที่สุด ในสถานบริการใกล้บ้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งใน 167 คนนี้ตามตัวได้แล้ว 44 คน และล่าสุดมีรายงานว่าถึง 50 คนแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 133 คน ยังมีการติดตามกันอยู่อย่างต่อเนื่องทุกช่องทาง” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว และว่า

นอกจากนี้ ศบค.ยังกำชับให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ติดตามให้โรงแรมที่เปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ กำชับให้ลงทะเบียนแอปฯหมอชนะ เพราะเป็นช่องทางหนึ่งในการติดตามผลการตรวจ RT-PCR และสามารถติดตามอาการในแต่ละวันได้ด้วย

สำหรับนักท่องเที่ยว 2 กลุ่มนี้ มีความแตกต่างกันคือ กลุ่มที่มาจากประเทศเสี่ยงสูง 8 ประเทศ จะเป็นกลุ่มที่ต้องตามตัวมาตรวจ RT-PCR ซ้ำ ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงต่ำคือกลุ่มที่มาจากประเทศอื่นในทวีปแอฟริกา ซึ่งในกลุ่มนี้มีจำนวน 453 คน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ต้องตรวจ PCR ซ้ำ นอกจากว่าต้องติดตามตัวเองภายใน 14 วันหลังออกจากการกักตัวหรือแซนด์บ็อกซ์ ถ้ามีอาการถึงค่อยไปตรวจ PCR

รวม 2 กลุ่มในประเทศทวีปแอฟริกามีจำนวน 786 คน (ตามตาราง)

ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 4,912 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่จำนวน 72,761 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,315 คน ในจำนวนนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 338 คน ซึ่งยังคงมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้ 33 คน

สำหรับ ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,101,778 ราย หายป่วยแล้ว 2,009,574 รายและ เสียชีวิตสะสม 20,786 รายส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,130,641 ราย หายป่วยแล้ว 2,037,000 ราย เสียชีวิตสะสม 20,880 ราย

ขณะที่ผู้เสียชีวิต 33 คนในวันนี้ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและมีโรคเรื้อรังรวม 31 ราย คิดเป็นสัดส่วนของ 2 กลุ่มนี้ 94% โดยกลุ่มจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากสุดยังเป็นพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 11 ราย รองลงมาเป็นกลุ่มจังหวัดในภาคกลางรวม 10 ราย ส่วนกทม.วันนี้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย (ตามตาราง)

และปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อมาจากบุคคลใกล้ชิดถึง 21 ราย คนรู้จักอีก 16 ราย และในครอบครับ 5 ราย ดังนั้นมาตรการส่วนบุคคลยังเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ การเว้นระยะห่าง

ขณะที่ผลการตรวจ ATK ทั่วประเทศวันนี้พบว่ามีจำนวนลดลงอย่างชัดเจน โดยตัวเลขล่าสุดวันนี้อยู่ที่ 2.34% ในขณะที่ผลการตรวจ PCR ทั่วประเทศอยู่ที่ 9.44% ซึ่งผลการตรวจ ATK และ PCR ลดลงในทุกเขตสุขภาพและลดลงเกือบทุกจังหวัด

ส่วนผู้มาขอรับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 207,136 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 246,818 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 73,138 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 ธันวาคม 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 94,280,248 โดส

สำหรับ 10 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อโควิดสูงสุดวันนี้ อันดับ 1. กทม. 685 ราย ลดลงจากวานนี้ถึง 93 ราย อันดับที่ 2 เป็น นครศรีธรรมราช 414 ราย สงขลา 312 ราย ปัตตานี 209 ราย สุราษฎร์ธานี 181 ราย เชียงใหม่ 179 ราย ชลบุรี 177 ราย สมุทรปราการ 116 ราย ขอนแก่น 103 ราย และยะลา 103 ราย

“ทุกจังหวัดมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดย 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากว่า 100 ราย มีรายงานแค่ 10 จังหวัดเท่านั้น ส่วนที่ไม่ถึง 100 ราย มีมากกว่า 50 จังหวัด และมี 2 จังหวัดที่ไม่พบรายงานการติดเชื้อ ได้แก่ นครพนมและมุกดาหาร”

7 คลัสเตอร์ใหม่

ขณะที่คลัสเตอร์ใหม่ที่พบการติดเชื้อ มีดังนี้

    1. สถานประกอบการ พบที่เชียงใหม่ นครราชสีมา เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ระยอง ปราจีนบุรี และ กทม.
    2. ตลาด พบที่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ลพบุรี สมุทรสาคร และตราด
    3. แคมป์คนงาน พบที่ ปราจีนบุรี เชียงใหม่
    4. พิธีกรรมและประเพณี พบการติดเชื้อในงานศพ ที่นราธิวาส ขอนแก่น ยโสธร หนองคาย
    5. สถานศึกษา โรงเรียน พบที่ร้อยเอ็ด ยะลา ตราด และอุบลราชธานี
    6. ค่ายทหาร พบที่ สงขลา ลพบุรี และชลบุรี
    7. ร้านอาหาร-สถานบันเทิง พบที่อุบลราชธานี

“ส่วนกรณีเทศกาลงานลอยกระทบไม่พบผู้ติดเชื้อจากงานลอยกระทงเลย ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมทั้งของกระทรวงสาธารณสุข สถานประกอบการ ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ขณะที่ทุกคลัสเตอร์ที่รายงานในวันนี้อยู่ในหลักหน่วยหรือหลักสิบเท่านั้น แต่ก็ขอให้เคร่งครัดภายใต้มาตรการความปลอดภัย ในสถานที่ต่าๆที่ยังต้องทำ Covid Free Setting หรือถ้าให้ดีควรจะยกระดับเป็น SHA+ ไปเลย เพื่อช่วยในเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น ” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว