วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฉีดพร้อมกับวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ?

วัคซีนไข้หวัดใหญ่-วัคซีนโควิดแบบพ่นจมูก ต่างกันอย่างไร ?
แฟ้มภาพ

สถาบันวัคซีนแห่งชาติตอบทุกข้อสงสัย แนวทางการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนโควิด-19 ฉีดด้วยกันได้หรือไม่ ขยายเวลาฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 7+3 กลุ่มเสี่ยง ถึง 31 ธ.ค. 64

วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงทุกข้อสงสัย เรื่อง แนวทางการฉีดวัคซีนไช้หวัดใหญ่ร่วมกับโควิด-19 ดังนี้

ไข้หวัดใหญ่มักระบาดช่วงไหน

  • ช่วงหน้าฝน : มิถุนายน-กันยายน
  • ช่วงหน้าหนาว : พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

อาการของไข้หวัดใหญ่และโควิด-19

  • สองโรคนี้มีความคล้ายคลึงกันและมีโอกาสติดเชื้อร่วมกันได้ หากมีอาการป่วยด้วยโรคโคิด-19 ร่วมกับไข้หวัดใหญ่ มีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น การฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

วัคซีนไข้หวัดใหญ่-โควิด ฉีดวันเดียวกันได้หรือไม่ ?

  • ฉีดได้ โดยไม่รบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันและไม่เพิ่มผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีกี่ชนิด

  1. ชนิด 3 สายพันธุ์ A (H1N1, H3N2) และ B (Victoria/Yamagata)
  2. ชนิด 4 สายพันธุ์  A (H1N1, H3N2) และ B (Victoria+Yamagata)

ประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ขึ้นกับอะไรบ้าง

  • สายพันธุ์วัคซีนที่ตรงกับที่มีการระบาด
  • ผู้สูงอายุสร้างภูมิคุ้มกันต่ำกว่าวัยผู้ใหญ่
  • การฉีดวัคซีนในช่วงที่มีการระบาด

รู้จัก Twindemic Vaccine

  • การผสมระหว่างวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในเข็มเดียวกัน กำลังอยู่ในการวิจัยต่างประเทศ เช่น โมเดอร์นา, โนวาแวกซ์

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคขยายเวลาฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ สำหรับกลุ่มเสี่ยง 7+3 (ฟรี) ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

กลุ่มเสี่ยงที่สามารถเข้ารับวัคซีนได้ เดิม (7 กลุ่มเสี่ยง)

1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)
4. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
7. โรคอ้วน (มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)

เพิ่มเติม (3 กลุ่มเสี่ยง)

1.บุคลากรหรือผู้ปฏิบัติงานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19
2.กลุ่มที่อยู่สถานที่มีการรวมตัวของประชากรจำนวนมาก เสี่ยงต่อการระบาด
3.กลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ขึ้นกับสถานการณ์