
เปิดเส้นทางธัญญา เนติธรรมกุล ผู้ครองเก้าอี้อธิบดีกรมอุทยานฯนาน 6 ปี ก่อนถูกย้ายไปนั่งตำแหน่งรองปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ
วันที่ 21 ธันวาคม 2564 กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 หนึ่งในนั้นคือ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไปเป็นรองปลัด ทส.
มติชน รายงานว่าการโยกย้ายนายธัญญาครั้งนี้ เป็นการโยกย้ายก่อนกำหนด เนื่องจากนายธัญญาจะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งสร้างความแปลกใจให้กับหลายฝ่าย และไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมเรื่องราวของนายธัญญา ผู้นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมอุทยานฯ มายาวนานถึง 6 ปี และข่าวที่เกี่ยวข้องกับอดีตอธิบดีผู้นี้
นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมอุทยานฯนาน 6 ปี
นายธัญญา ศิษย์เก่าคณะวนศาสตร์ รุ่น 47 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมอุทยานฯครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559
วันเดียวกันนั้น มติชนรายงานว่า นายธัญญาได้รับแรงสนับสนุนจากอดีตรัฐมนตรี ทส.คนหนึ่ง แต่ก็ถูกต่อต้านจากข้าราชการบางส่วนในกรมอุทยานฯ เนื่องจากแต่งตั้งคนใกล้ชิดที่มีปัญหาถูกตั้งกรรมการสอบสวนกรณีการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่อุทยานฯ สิรินาถ จ.ภูเก็ต เข้ามารับผิดชอบงานหลายด้าน
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล ทส. ต้องการเสนอชื่อนายสมหมาย กิตติยากุล รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ขึ้นเป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ ซึ่งนายสมหมายเองก็มีเรื่องข้อร้องเรียนกรณีการจัดซื้อชุดเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ในราคาสูงเกินปกติ
วันที่ 10 มีนาคม 2563 ครม.มีมติอนุมัติขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของนายธัญญาต่อไปอีก 1 ปี ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564
ต่อมาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ครม.อนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของนายธัญญาอีก 1 ปี ครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565
เอกชนขึ้นป้ายหราทวงเงิน
เปิดศักราชปี 2562 ได้เพียง 2 วัน บริษัท วีอาร์ไพล์ จำกัด นำแผ่นป้ายขนาดใหญ่มาติดขึงไว้บริเวณด้านหน้าอาคารสืบนาคะเสถียร และด้านหน้าอาคารที่จอดรถ จำนวน 2 ป้าย ภายในกรมอุทยานฯ
โดยข้อความบนแผ่นป้ายขนาดใหญ่ที่ถูกนำมาติดขึงไว้ 2 ป้าย มีข้อความเหมือนกัน ใจความสำคัญเป็นการทวงเงินจากโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการกรมอุทยานฯ 210 ล้านบาท พร้อมระบุว่า บริษัท กำลังให้ทนายความดำเนินการทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญาเอากับบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้องสิทธิแห่งตนตามครรลองครองธรรมต่อไป
ต่อมานายธัญญาได้เรียกประชุมคณะกรรมการทุกชุดที่เกี่ยวข้อง จากนั้นนายเฉลิมชัย ปาปะทา รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เปิดเผยหลังการประชุมว่า บริษัทที่ขึ้นป้ายมองว่าได้รับเงินล่าช้า แต่กรมอุทยานฯไม่ได้นิ่งนอนใจ สาเหตุที่ล่าช้า เนื่องจากการส่งงานมีเอกสารหลักฐานบางส่วนไม่ครบ เจ้าหน้าที่เลยไม่กล้าเบิกจ่ายให้ และต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบงานด้วย กรมอุทยานฯไม่ได้ถ่วงเวลา
เรื่องราวที่ ป.ป.ช.
ช่วงเดือนมิถุนายน 2562 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหนังสือถึง ทส. ให้ดำเนินการทางวินัยกับนายธัญญา กรณีการกระทำผิดต่ออำนาจหน้าที่ ในการเลื่อนขั้นเงินเดือนให้กับภรรยา 6 เปอร์เซ็นต์ ประจำรอบการประเมินที่ 1 (1 ต.ค. 2558 – 31 มี.ค. 2559)
อย่างไรก็ตาม นายธัญญาชี้แจงว่า กระบวนการในการเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นการดำเนินการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ด่วนที่สุด ที่ นร. 1008.1/ว28 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2552 เรื่องการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ. ศ. 2551 โดยผู้บริหารหน่วยงานสามารถจัดสรรวงเงินให้กับหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ได้
และกรมอุทยานฯ มีกลไกสนับสนุนความโปร่งใสและเป็นธรรมในการพิจารณาขั้นเงินเดือน โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการ อีกทั้งในรอบการประเมินเดือน ต.ค. 2558-มี.ค. 2559 ก็มีผู้ได้รับการประเมินขั้นเงินเดือนในอัตรา 6 เปอร์เซ็นต์ มากกว่า 10 ราย ซึ่งเป็นการพิจารณามาจากสำนัก กอง กลุ่มงาน และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯแล้ว ก่อนที่จะมาถึงตน
นายธัญญากล่าวอีกว่า สำหรับกรณี ป.ป.ช. มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการแจ้งให้ทราบถึงผลการพิจารณาของ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 64 ซึ่งระบุว่า
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นว่าเรื่องที่มีการกล่าวหาเรื่องใด มิใช่เป็นความผิดร้ายแรง หรือกล่าวหาในเรื่องที่มิได้อยู่ในหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งหรือถอดถอนของผู้ถูกร้อง ดําเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอํานาจก็ได้
“ดังนั้น จึงไม่ใช่หนังสือที่ ป.ป.ช.สั่งลงโทษตนแต่ประการใด”
ท่าเทียบเรือลอยน้ำ
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ไฮ-พลัส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) ที่รัฐสภา
เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินคดีกับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และพวก กรณีการสร้างท่าเทียบเรือลอยน้ำ อ่าวโล๊ะซามะ โดยมิชอบ
นายอนันต์ชัยกล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และบริษัท ไฮ-พลัส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ทำสัญญาซื้อขายโครงการการจัดหาท่าเทียบเรือลอยน้ำ เพื่อควบคุมการเข้า-ออกของเรือในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ พร้อมติดตั้ง จำนวน 1 ชุด ด้วยการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เป็นราคาทั้งสิ้น 49,630,000 บาท
โดยมีกำหนดส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายภายใน 90 วัน หรือภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ซึ่งบริษัทได้ทำหนังสือแจ้งให้กรมอุทยานฯส่งมอบพื้นที่เพื่อดำเนินการตามสัญญาหลายครั้ง แต่กรมอุทยานฯกลับเพิกเฉย
ต่อมากลับมีหนังสือแจ้งว่าจะปรับบริษัทตามสัญญา ซึ่งบริษัทได้ชี้แจงว่าเหตุเป็นเพราะกรมอุทยานฯยังไม่ส่งมอบพื้นที่หน้างาน ดังนั้น จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับ นอกจากนี้ ยังมีการทำทางเดินท่าเทียบเรือที่ไม่แข็งแรงไม่ได้มาตรฐาน อาจจะทำให้โค่นล้ม หรือพังทลายได้
จึงได้มีหนังสือถึงกรมอุทยานฯให้มีการแก้ไขทางเดินรับท่าเทียบเรือลอยน้ำดังกล่าว แต่กรมอุทยานฯก็ยังคงเพิกเฉยมาตลอด จนกระทั่ง กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เข้าตรวจสอบพบว่ามีการกระทำการดังกล่าวจริง
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า จะนำรายงานของ กมธ.การที่ดินฯมาศึกษา ตรวจสอบ ตามข้อร้องเรียน ซึ่งคาดว่าหลังปีใหม่จะบรรจุเข้าระเบียบวาระประชุมของ กมธ.ได้ และจะรีบพิจารณาให้โดยเร็ว
การแต่งตั้งโยกย้าย
หลังจากมติ ครม. วันที่ 21 ธันวาคม ได้ย้ายนายธัญญาไปเป็น รองปลัด ทส. มติชนรายงานว่า นายธัญญาได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหลายตำแหน่ง ได้แก่
- นายวีระศักดิ์ ศรีสัจจัง เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) ที่ 5 เป็น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา
- นายสุธน เวียงดาว เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ส่วนอุทยานแห่งชาติ สบอ.12 นครสวรรค์ เป็น หัวหน้าอุทยานฯ หมู่เกาะลันตา จ.กระบี่
- นายสุพล คำเสนาะ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ส่วนอุทยาน สบอ.1 ปราจีนบุรี เป็น หัวหน้าอุทยานฯเอราวัณ จ.กาญจนบุรี
- นายลำยอง ศรีเสวก นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ส่วนจัดการทรัพยากรในอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ เป็นหัวหน้าอุทยานฯ หาดวนกร จ.ประจวบคีรีขันธ์
- นายพีรวัฒิ สิโรตม์พิพัฒ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานสงวนและคุ้มครองพันธุ์พืชป่า กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา เป็น ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สบอ. 16 เชียงใหม่
- นายเกียรติศักดิ์ แก้วเสน นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา เป็นหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จ.ชลบุรี
- นายอิสรินทร์ โสธรจิตต์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ สบอ.1 ปราจีนบุรี เป็นหัวหน้าอุทยานฯ เขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
- นายโยธิน จงบุรี เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สงขลา เป็น ผอ.สบอ. 13 สาขาลำปาง
- นายทัศเนศวร์ เพชรคง นักวิชาการป่าไม้ ชำนาญการพิเศษ ส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ สบอ. 2 ศรีราชา เป็น ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง
ทั้งหมดนี้คือเส้นทางที่นายธัญญาเผชิญ ตลอด 6 ปีบนเก้าอี้อธิบดีกรมอุทยานฯ