ยาฟาวิพิราเวียร์ กับ แพกซ์โลวิด หมอมนูญแนะไทยควรนำเข้าชนิดใด

หมอมนูญ

หมอมนูญ เปรียบเทียบ “ฟาวิพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด” รักษาโรคโควิด-19 ประเทศไทย ควรเลือกซื้อตัวใด 

วันที่ 27 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หรือ “หมอมนูญ” ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างยาฟาวิพิราเวียร์ กับยาแพกซ์โลวิด สำหรับรักษาโรคโควิด-19 ว่าประเทศไทยควรจะเลือกซื้อและจองยาชนิดใด

โพสต์ดังกล่าวระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ ( FDA) เพิ่งจะอนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค สำหรับรักษาโรคโควิด-19 ถือเป็นการอนุมัติยาต้านไวรัสแบบเม็ดตัวที่ 2

ก่อนหน้านี้ FDA สหรัฐได้อนุมัติการใช้ยาแพกซ์โลวิดของบริษัทไฟเซอร์ ยาเม็ดชนิดกินตัวแรกสำหรับรักษาโรคโควิด-19

แพกซ์โลวิด เป็นยาต้านไวรัสชนิดเม็ด ประกอบด้วยยาเนอร์มาเทรลเวียร์ (nirmatrelvir) ที่สามารถยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (protease) ซึ่งเชื้อไวรัสต้องใช้ในการเพิ่มจำนวน และยาต้านไวรัสริโทนาเวียร์ (ritonavir) ซึ่งทำให้เนอร์มาเทรลเวียร์ อยู่ในร่างกายได้นานขึ้น

กลไกการรักษาของยาแพกซ์โลวิดแตกต่างกับยาโมลนูพิราเวียร์ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติในรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด เวลาไวรัสก๊อบปี้ตัวเอง จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ จึงทำให้มีจำนวนไวรัสในร่างกายในระดับต่ำและช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

นักวิทยาศาสตร์กังวลว่า ยาโมลนูพิราเวียร์อาจทำให้เกิดการผิดพลาด เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ด้วย ถึงแม้ว่าผลการทดลองเบื้องต้นพบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์จะมีผลข้างเคียงต่ำ เทียบเท่ากับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ผู้เชี่ยวชาญไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กและหญิงตั้งครรภ์

การใช้โมลนูพิราเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสทำให้เกิด teratogenic effect ความพิการในเด็กทารก ดังนั้นในกรณีเป็นผู้ป่วยหญิงวัยเจริญพันธุ์ ควรตรวจภาวะการตั้งครรภ์ก่อนเริ่มยานี้ และห้ามให้ในกรณีที่ผู้ป่วยตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังกังวลการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์นาน ๆ อาจก่อให้เชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ เกิดการดื้อยา ติดเชื้อแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น และหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีน

รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่เพิ่งประกาศยกเลิกคำสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ โดยกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศสระบุว่าผลการทดสอบใช้งานกับอาสาสมัครจนครบเฟส 3 ให้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ ลดความเสี่ยงจากอาการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลและความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เพียง 30% ต่างกับผลการทดสอบตอนที่ยุติการทดลองกับอาสาสมัครที่ระบุว่ามีประสิทธิภาพ 50%

ยาแพกซ์โลวิดมีประสิทธิภาพสูงกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ หากได้รับยาภายใน 3 วัน นับตั้งแต่เริ่มมีอาการ ช่วยลดอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลง 89% หากรับยาภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ ประสิทธิผลจะอยู่ที่ 85%

ประเทศไทยควรทำตามอย่างประเทศฝรั่งเศส ยกเลิกการสั่งซื้อและจองยาโมลนูพิราเวียร์ สั่งซื้อและจองเฉพาะยาแพกซ์โลวิดเท่านั้น