ไทยเล็งจัดอีเวนต์การบินนานาชาติใหญ่กว่าสิงคโปร์

สถานการณ์โควิดในปี 2563 อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ทางคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.), บจ.วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT

มีมาตรการบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นความต้องการการเดินทางทางอากาศเพื่อให้สายการบินสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เช่น มาตรการลดค่าใช้จ่าย มาตรการการเงิน และมาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบ ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 3 ระยะ

ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ กบร.กำลังพิจารณามาตรการระยะที่ 4 ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินปี 2565-2568 โดยการช่วยเหลือจะต้องเป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่หน่วยงานสามารถทำได้ และจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่นโยบายภูเก็ตแซนด์บอกซ์ และการเปิดประเทศภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประเมินปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทย 5.1 ล้านคน ขณะที่ กพท.คาดการณ์ตัวเลขที่ 8 ล้านคน ซึ่งตนคาดหวังว่าจะมีมากกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนที่มีแนวโน้มความรุนแรงต่ำ

แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นนอกเหนือการควบคุม เช่น มีสายพันธุ์ใหม่อีก จึงคาดว่าใช้เวลา 3 ปีอุตฯการบินกลับไปเหมือนยุคก่อนโควิดปี 2562

“ก่อนเกิดโควิด การเติบโตการบินสูงกว่า เที่ยวบินโต 7.6% ต่อปีกว่า 1 ล้านเที่ยวบิน/ปี มีผู้โดยสารรวมทั้งประเทศ 165 ล้านคน/ปี IATA คาดว่าปี 2574 หรืออีก 10 ปีหน้าผู้โดยสารจะกลับมาเป็น 200 ล้านคน/ปี ไทยอยู่ที่อันดับ 9 ของโลก ดังนั้นต้องเตรียมทำ action plan พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งรันเวย์ อาคารผู้โดยสาร การให้บริการที่สะดวก นำระบบ AI มาใช้เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศ”

โดยมอบนโยบาย กพท.พิจารณาจัดประชุมการบินนานาชาติในปี 2565 วัตถุประสงค์ให้บุคลากรการบินนานาชาติมีโอกาสเห็นการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของไทยในทุกมิติ เพื่อไปสู่เป้าหมายมีผู้โดยสาร 200 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า

รูปแบบเป็นแอร์โชว์เหมือนการจัดที่ประเทศสิงคโปร์ แต่จะทำให้ใหญ่กว่าเพราะไทยมีโจทย์เป็นศูนย์กลางการบินหรือฮับในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับนโยบายกระทรวงคมนาคมด้านการบิน ประกอบด้วย 1.เร่งพัฒนาสนามบินให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมกระจายสินค้าเกษตรหรือสินค้าเน่าเสียง่าย 2.จัดตั้งศูนย์จำหน่ายและกระจายสินค้าโอท็อปที่สนามบินของ ทอท.6 แห่ง และ ทย.อีก 20 แห่ง

3.ให้สิทธิการบริหารสนามบินของ ทย. และ ทอท. 3 แห่ง ได้แก่ กระบี่ อุดรธานี บุรีรัมย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยคาดว่าเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนมกราคม 2565 และ 4.การเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวตามนโยบายเปิดประเทศ