นักธุรกิจอุดรธานี ค้านโอนสนามบินให้ ทอท. ขอ “ประยุทธ์” ชะลอไปก่อน

ภาคธุรกิจในจังหวัดอุดรธานี  ค้านโอนสนามบินจากการกำกับของกรมท่าอากาศยาน ให้กับท่าอากาศยานไทย ขอ “ประยุทธ์” ชะลอออกไปก่อน

วันที่ 6 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดอุดรธานี ร่วมกับหอการค้าจังหวัดอุดรธานี, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และชมรมธนาคาร จ.อุดรธานี ร่วมกันออกหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ชะลอการโอนสนามบินอุดรธานี จากการกำกับของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้กับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) มีใจความสำคัญ ดังนี้

สืบเนื่องมาจากภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย เทศบาลนครอุดรธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี หอการค้าจังหวัดอุดรธานี ชมรมธนาคารจังหวัดอุดรธานี สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี สมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี สมาคมส่งเสริมพ่อค้าจีนอุดรธานี สมาคมนักธุรกิจไทย เวียดนามแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี

นักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่จังหวัดอุดรธานี Young FT! ประชารัฐจังหวัดอุดรธานี ตัวแทนภาคประชาชนจังหวัดอุดรธานีและตัวแทนผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอุดรธานี ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการโอนย้ายการบริหารสนามบินอุดรธานี จาก กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ไปให้กับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.)

ทางภาคเอกชน และเทศบาลนครอุดรธานี จึงได้จัดการประชุมพิจารณา แลกเปลี่ยนข้อมูล ในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และมีข้อสรุปจากที่ประชุมดังนี้

1.สนามบินอุดรธานี ซึ่งมีการบริหารโดย ทย.มีการปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น อาคารสถานที่ อาคารที่พักผู้โดยสาร หอบังคับการบิน ลานจอดอากาศยาน ระบบช่วยเดินอากาศ อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการบริการเครื่องบินทั้งหมด เป็นไปตามมาตรฐานของ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ( ICAO) และสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับภาครัฐโดยตรง

พร้อมกับภาคธุรกิจเอกชนใน จ.อุดรธานี เห็นว่าสนามบินอุดรธานี มีโอกาสที่จะพัฒนาเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค ระดับต่างประเทศได้อีกมาก อีกทั้ง ทย.ก็เป็นองค์กรที่สามารถยกระดับสนามบินอุดรธานี ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติอยู่แล้ว สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระดับภูมิภาค ดึงดูดนักท่องเที่ยวนักลงทุนมายังภูมิภาคอีสานตอนบน 1 ได้อย่างดี

ทางภาคธุรกิจเอกชน จึงอยากจะขอรับทราบนโยบาย และแผน ทิศทางในการบริหารสนามบินอุดรธานีในอนาคต จาก ทย.โดยตรงจะได้เข้าใจในนโยบาย และการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคอีสานตอนบน

2.สนามบินอุดรธานี ถือว่าเป็นบริการสาธารณะ ที่รัฐพึงจัดให้เพื่อบริการประชาชน ซึ่งถือว่าประชาชนใน จ.อุดรธานี เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และได้รับผลกระทบโดยตรง จากนโยบาย ทิศทางการบริหารงานของสนามบินอุดรธานี จึงมีความเห็นว่า ในการบริหารงานในอนาคต ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสนามบินประกอบไปด้วย ผู้บริหารของสนามบิน ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนจากภาคธุรกิจเอกชน ผู้แทนจากประชาชนและชุมชนที่ท่าอากาศยานตั้งอยู่ เป็นต้น

3.ตามที่มีข่าวเผยแพร่มาโดยตลอดว่า ทอท. จะขอเข้าดำเนินการบริหารจัดการสนามบินอุดรธานี นั้น ที่ประชุมมีความกังวล และมีความไม่ชัดเจน ในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ทิศทางการพัฒนา การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณที่สูง และมีความต่อเนื่องในการสร้างความสามารถในการแข่งชัน การบริการต่าง ๆ ที่พี่น้องประชาชนอุดรธานีจะได้รับ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้เข้าไปใช้บริการจะได้รับผลกระทบ

รวมถึงโอกาสในการยกระดับสนามบินเพื่อรองรับโอกาสต่าง ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต และผลกระทบต่อผู้ประกอบการท้องถิ่นที่อาจจะสูญเสียโอกาสในการประกอบธุรกิจในสนามบิน รวมถึงความไม่ชัดเจนในวิธีการคัดเลือก ทอท. ให้เข้ามาบริหารสนามบินอุดรธานี

ดังนั้น ทางภาคเอกชน และเทศบาลนครอุดรธานี มีความประสงค์ขอความกรุณาจากท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ชะลอการดำเนินการโอนย้ายการบริหารสนามบินอุดรธานี ไปสู่ ทอท. และขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นตัวแทนทางราชการ ทบทวน ศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ของแนวทางการบริหารและการพัฒนาสนามบิน

โดยจะต้องมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนในฐานะเจ้าของพื้นที่และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ได้เข้ามารับทราบข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดังกล่าว โดยยึดหลักปฏิบัติที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐ ภาคประชาชนสูงสุด

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นโยบายการโอนสนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้กับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เป็นผลจากข้อสั่งการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2561 สมัยรัฐบาล คสช. โดย ณ ขณะนั้นเลือกไว้ 4 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร

แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จในสมัยดังกล่าว เพราะติดประเด็นข้อกฎหมายการโอนสนามบินของ ทย.ที่เป็นทรัพย์สินเป็นของรัฐ ให้ ทอท.ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯไม่สามารถทำได้

เมื่อมาถึงสมัยรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง กระทรวงคมนาคมโดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงได้เปลี่ยนสนามบินที่จะโอนใหม่เป็นสนามบิน กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ แทน โดยความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนประสานกรมธนารักษ์เรื่องค่าเช่าที่ราชพัสดุจบแล้ว เหลือหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง เรื่องวิธีปฏิบัติ ซึ่งเดิมกรมธนารักษ์มอบให้ ทย.เป็นผู้ดำเนินการสนามบินในที่ดิน

แต่เมื่อจะมอบให้ ทอท.บริหารสนามบินนั้นแทน ทย.จะต้องมอบพื้นที่คืนกรมธนารักษ์ และ ทอท.ไปเช่าจากกรมธนารักษ์ ซึ่งคาดว่าจะสรุปเสนอ ครม.ได้ในเดือนมกราคม 2565 เพื่อให้ ทอท.เข้าบริหารโดยเร็ว