กรุงเทพฯสั่ง 50 เขตสแตนบายด์ศูนย์ฉุกเฉิน รับมือโควิดโอมิครอน

กทม. ประกาศดื่มแอลกฮอล์ในร้านถึง 21.00 น. ไม่ให้เปิดร้านเหล้า-ผับบาร์

กรุงเทพฯสั่ง 50 เขตสแตนบายด์ศูนย์ฉุกเฉิน ยกระดับความเข้มข้นของมาตรการสำหรับสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ

วันที่ 8 มกราคม 2565 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมออนไลน์เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ได้มอบหมายให้ 50 สำนักงานเขตเตรียมความพร้อมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินสำนักงานเขต (Emergency Operation Center : EOC)

เพื่อติดตามสถานการณ์โรค โดยบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุ ซักซ้อมขั้นตอนการดำเนินการกรณีเกิดเหตุในสถานการณ์ต่างๆ และสำรวจความพร้อมของสถานที่ อุปกรณ์ บุคลากร การกำกับให้เป็นไปตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค

การเตรียมระบบการคัดกรองและแยกผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว การรายงานระบบข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง และทันทีที่พบผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ รวมถึงตรวจสอบเลขหมายทดสอบระบบโทรศัพท์และคู่สายต่างๆ เพื่อให้พร้อมใช้งานตอบสนองการให้บริการประชาชนได้ทันเวลา

ปลัดกรทม. กล่าวอีกว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม. มีนโยบายกำชับให้ทุกหน่วยงานยกระดับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ในประเทศไทยที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น

โดยยกระดับความเข้มข้นของมาตรการสำหรับสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว พร้อมทั้งเร่งรัดดำเนินการป้องกันควบคุมโรคและการดูแลรักษาตามระดับความรุนแรงของอาการ

จะต้องทบทวนและซักซ้อมการรับผู้ป่วยเข้ามาในระบบการรักษา รวมถึงกระบวนการส่งต่อผู้ป่วยให้ราบรื่น โดยมีเป้าหมายลดการรอคอยของผู้ป่วยไม่ให้เกิน 6 ชั่วโมง หรืออย่างช้าภายใน 12 ชั่วโมงจะต้องได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ เพื่อประเมินอาการเบื้องต้น

เมื่อผู้ติดเชื้อได้รับการจับคู่ดูแลกับสถานพยาบาลแล้ว หากผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรงรักษาตัวสถานที่แยกกัก (Home Isolation : HI) จะมีเครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ยาฟ้าทะลายโจร และยาพื้นฐานอื่นๆ

ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนแปลง ให้แจ้งสถานพยาบาลที่ดูแล เพื่อขอรับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ หรือส่งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) หรือส่งไปยังโรงพยาบาลสนาม หรือส่งต่อรักษาในโรงพยาบาลตามระดับความรุนแรงของอาการ