คมนาคม ทุ่มลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ 1.4 ล้านล้าน ดันจีดีพีเพิ่ม 2.35%

รมว.คมนาคม เผยปี 65 ทุ่มงบ 1.4 ล้านล้านบาท ช่วยคนไทยมีงานกว่า 1.54 แสนคน ดันจีดีพีเพิ่ม 2.35% ย้ำหากแผนแลนด์บริดจ์ ชุมพร – ระนองสำเร็จ ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญ หรือปีละกว่า 4 แสนล้านบาท

วันที่ 20 มกราคม 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา “Thailand Future Smart & Sustainable Mobility ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน” โดยกระทรวงคมนาคม ในหัวข้อ “โอกาสของประเทศไทยกับการได้ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม ที่โรงแรมพูลแมน รางน้ำ ว่า การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมของประเทศ ได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้มีโควิดระบาด แต่งานกระทรวงคมนาคมไม่ได้หยุด เพราะทราบดีว่า เครื่องจักรเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งการท่องเที่ยว และการลงทุนของภาคเอกชนได้รับผลกระทบและชะลอตัว  จึงเป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐที่จะทำงานร่วมกัน กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราพยายามดำเนินการทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่นายกรัฐมนตรีวางแผนไว้ตั้งแต่ปี  2558-2578

“กระทรวงคมนาคมมีแผนการลงทุนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบก ราง น้ำ อากาศ ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อให้โครงข่ายที่สมบูรณ์ เกิดประโยชน์ต่อประเทศ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลาย เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง ใช้ชีวิต และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย”

ลงทุน 1.4 ล้านล้าน ดันจีดีพี 2.35%

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในปีนี้ กระทรวงคมนาคมมีเม็ดเงินลงทุนโครงข่ายคมนาคมทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยโครงการที่ลงนามสัญญาแล้ววงเงิน 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยจ้างงานได้มากถึง 154,000 คน สร้างมูลค่าเพิ่มในส่วนของการใช้จ่ายด้านวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ 1.24 ล้านล้านบาท เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 2.35% ของจีดีพี หรือประมาณ 400,000  ล้านบาท

ทั้งนี้ แผนลงทุนของกระทรวงทั้งราง น้ำ บก อากาศ จะช่วยเพิ่มความเร็วในการเดินทาง โดยรถไฟฟ้า เพิ่มความเร็วในการเดินทางช่วงรถติดได้ 35 กมต่อชม, มอเตอร์เวย์ เพิ่มความเร็วได้ จาก 80 กม. เป็น 120 กม.ต่อชม., รถไฟทางคู่ เพิ่มความเร็วจาก 60 กม.เป็น 100 กม. ต่อ ชม. ลดต้นทุนตค่าขนส่งได้ 4 เท่า, รถไฟความเร็วสูง เพิ่มความเร็วการเดินทางจาก 80 กม.เป็น 160 กม. ต่อ ชม., สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา เชื่อมต่อการเดินทางภูมิภาคและต่างประเทศเร็วรองรับผู้โดยสารจาก 80 ล้านคนต่อปี เป็น 120 ล้านคนต่อปี

รถไฟฟ้า-ทางคู่คืบหน้าเป็นลำดับ

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการต่างๆ ที่กระทรวงดำเนินการ คือ การพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพ และปริมณฑล โดยมีทั้งหมด 14 สาย (สี) ระยะทาง 554 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 6 สาย 11 เส้นทาง

และยังมีอีก 4 สายที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และจะเปิดใช้บริการได้ในเร็วๆนี้  คือ สายสีชมพู  ช่วงแคราย–มีนบุรี  และช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี  เปิดบริการเดือนก.ค.2566  สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และแยกรัชดา-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน เปิดให้บริการเดือนมิ.ย.2565 สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี  คาดว่าจะเสร็จเดือน ธ.ค.2568  และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท–บางซื่อ–ดอนเมือง จะเปิดให้บริการ ปี 2570 อีกทั้งยังมีอีก 4 สายที่อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบลงทุน และเปิดประมูล ซึ่งจะเปิดให้บริการปี 2570 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังมีแผนสร้างรถไฟทางคู่ จากที่ผ่านมา ไทยมีระบบรางเป็นราวเดี่ยว ถือเป็นการปฏิรูประบบรางทั้งประเทศไทย เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า ลดต้นทุนการขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศ โดยเชื่อมโยงตะวันออกสู่ตะวันตก เหนือสู่ใต้ และยังรองรับการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้วางแผนการลงทุน ทั้งในส่วนของรางรถไฟเดิม และการก่อสร้างเส้นทางใหม่ ซึ่งปี 65 ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะแรก จะแล้วเสร็จ 1,111 กม.

เดินหน้าลงทุนท่าเรือบก-Dry Port

ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคม จะดำเนินโครงการท่าเรือบก (DryPort) เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นแผนคู่ขนานกับรถไฟรางคู่ เพื่อขนส่งทางรถไฟได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงเวลา โดยจัดทำแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือบกเสร็จแล้ว และกำลังดำเนินการศึกษา และจัดทำรายงานแผนการลงทุนร่วมภาครัฐเอกชน (พีพีพี)

พร้อมกันนั้น ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูง กำลังก่อสร้าง 2 เส้นทาง คือ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะทาง  2,506 กม. วงเงินลงทุนกว่า 1.62 ล้านล้านบาท และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม.ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้าง คาดจะเสร็จปี 71  ซึ่งจะช่วยในด้านการค้า การขนส่ง และช่วยพัฒนาการท่องเที่ยว กระจายรายได้ในชุมชนเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนทางบก ปัจจุบัน ไทยมีถนนทั่วประเทศเกือบ 900,000 กม. แต่อยู่ในความดูแลของกระทรวง 400,000 กม. ซึ่งกระทรวงกำลังดำเนินการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เชื่อมโยงแต่ละภูมิภาคของไทยให้เดินทางถึงกันได้เร็วขึ้น และยังจะเชื่อมต่อไปยังเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยทั้งการกระจายรายได้ และลดต้นทุุนการขนส่งทางถนน

โดยเส้นที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง บางปะอิน-โคราช หรือมอเตอร์เวย์ M6 ระยะทาง196 กม. วงเงินลงทุน 81,121 ล้านบาท จะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2566, สายบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม.เปิดใช้ปี 2566 เป็นต้น

เทรนด์สิบปีต่างชาติทะลัก 200 ล้านคน

ขณะเดียวกัน ยังมีการพัฒนาทางอากาศ โดยขยายศักยภาพสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และสนามบินต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรองรับคนต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทย ที่คาดว่า ในอีก 10 ปี หรือในปี 2574 จะมีมากถึง 200 ล้านคน

อีกทั้งยังมีแผนงานในอนาคต และพร้อมจะเดินหน้าในครึ่งปีหลังของปีนี้  คือ แผนแม่บท MR-MAP  หรือการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง ใน 10 เส้นทางทั่วประเทศ จากเหนือมาใต้ 3 เส้นทาง และตะวันตกมาตะวันออก 7 เส้นทาง ซึ่งจะเป็นการสร้างโครงข่ายการค้า การลงทุนของประเทศ เชื่อมโยงระบบคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยมีผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินและผลกระทบอื่นต่อประชาชนจากการก่อสร้างน้อยลงมาก

เดินหน้าแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง

โดยมีโครงการที่สำคัญ และจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลให้กับประเทศคือ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ชุมพร-ระนอง ลดเวลาการเดินเรือ ผ่านช่องแคบมะละกาลงได้ถึง 4 วัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 14,000  ล้านเหรียญสหรัฐ  หรือประมาณ  460,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และจะเริ่มดำเนินโครงการในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้


รวมถึงโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง – ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ลดเวลาข้ามฟาก เหลือเพียง 2 นาที จากเดิมการเดินทางข้ามแพขนานยนต์ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เป็นต้น และต้องมีสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อเติมเต็มการพัฒนาศักยภาพทางน้ำ ช่วยขนส่งสินค้าทางน้ำด้วย