ขสมก.นำร่องเพิ่มไฟส่องสว่างเลขรถเมล์ ประเดิมสาย 12 และ 54

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ขสมก.พร้อมบวก

ผอ.ขสมก.จับมือเอกชน-เพจรถเมล์ ปรังปรุงไฟป้ายบอกเลขรถเมล์ ประเดิมสาย 12 และ 54 นำร่อง

วันที่ 21 มกราคม 2565 เพจเฟซบุ๊ก ขสมก. พร้อมบวก รายงานว่า นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จับมือพันธมิตร ทั้งภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท แสงเจริญทูลส์ เซ็นเตอร์ จำกัดและภาคประชาชน โดย ตัวแทนจาก Facebook Fanpage รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai Bangkok Bus Club และ BKK BUS Photographer พัฒนาคุณภาพการบริการของ ขสมก. ด้วยการปรับรูปแบบป้ายไฟเลขสาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถสังเกตเห็นได้จากระยะไกล ชัดเจน และ เป็นรูปแบบเดียวกัน

โดยปรับปรุงป้ายไฟเลขสาย เริ่มนำร่องโครงการที่อู่พระราม 9 โดยเลือกสาย 12 และ 54 เป็นต้นแบบ เนื่องจาก รถทั้งสองสายนี้มีความใกล้เคียงกัน ในด้านรูปลักษณ์และเส้นทาง เนื่องจาก เป็นรถประเภทเดียวกัน สีเดียวกัน เป็นเลขสายสองหลักทั้งคู่ และเป็นรถที่วิ่งทับเส้นทางกันตั้งแต่ตลาดห้วยขวาง ถึงสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งกลุ่มผู้โดยสารบางส่วนจะคนละกลุ่มกัน

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ขสมก.พร้อมบวก

แนวคิดหลักในการออกแบบครั้งนี้ คือ จะใช้ลักษณะเด่นของป้ายไฟแต่ละสาย ให้มีความแตกต่างกันเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถแยกแยะและสังเกตง่าย ขณะรถกำลังเข้าป้าย โดยเฉพาะเส้นทางที่มีการใช้รถประเภทเดียวกัน รุ่นเดียวกันมากกว่า 2 สายเป็นต้นไป การสร้างจุดเด่นให้แตกต่างกัน จะช่วยให้แยกสายได้ง่ายขึ้น และในสายเดียวกัน จะต้องมีป้ายไฟเลขสายที่เหมือนกันทุกคัน เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันในแต่ละสาย
ขั้นตอนการออกแบบและปรับปรุงป้ายไฟเลขสาย ประกอบด้วย

การเตรียมป้ายก่อนติดเลขสาย

1. ป้ายไฟจะอยู่ในสภาพสมบูรณ์ กระจกป้ายไฟควรเป็นกระจกใส สะอาดไม่มีคราบสกปรก ไม่มีการทำสีหรือติดสติกเกอร์เก่า

2. ติดหลอดไฟแบบ LED สีขาว Daylight เพื่อให้สีพื้นของป้ายไฟไม่ผิดเพี้ยน และติดตั้งให้กระจายแสงทั่วทั้งป้าย

การออกแบบป้ายไฟเลขสาย

1. วิเคราะห์ข้อมูลเส้นทางของสายรถนั้น และสายใกล้เคียงกัน เพื่อตรวจสอบว่ามีการวิ่งทับเส้นทางกันช่วงใดบ้าง มีการใช้ป้ายไฟเลขสายอย่างไร เพื่อให้สายที่กำลังออกแบบนั้น มีความแตกต่างกับสายใกล้เคียง เช่น
สาย 12 และ 54 ใช้รถรุ่นเดียวกัน ใช้เลขสองหลักเหมือนกัน และทับช่วงเส้นทางกันบางส่วน และจะเทียบเคียงกับสาย 13 ด้วย เนื่องจากมีเส้นทางทับช่วงกับ 12 และ 54 และตัวเลขสายก็ต่อจาก 12 ดังนั้น ทั้งสามสายนี้จะต้องมีป้ายไฟที่ต่างกัน

สาย 13 ซึ่งปรับปรุงป้ายไฟมาก่อนหน้านี้ มีลักษณะฟอนต์ตัวเลขที่ใหญ่ หนา บนพื้นสีขาว ดังนั้น สาย 12 จึงต้องเปลี่ยนมาใช้สีน้ำเงิน เพื่อให้แตกต่างกับสาย 12 และ 54

ส่วนสาย 54 ยังคงใช้พื้นหลังสีขาว เพื่อให้แตกต่างกับสาย 12 แต่จะเหมือนกับสาย 13 ซึ่งมีทิศทางการวิ่งทับกัน ดังนั้นสาย 54 จะต้องเปลี่ยนที่ตัวฟอนต์เลขสาย

2. การคัดเลือกฟอนต์เลขสาย

สาย 13 มีการปรับปรุงป้ายเลขสายมาก่อนหน้า จากอู่คลองเตย มีลักษณะตัวเลขน้ำเงินบนพื้นสีขาว และใช้ฟอนต์ตัวเลขที่มีลักษณะใหญ่และหนา และปัจจุบันสาย 54 ก็มีตัวเลขที่หนาและใหญ่เช่นเดียวกับสาย 15 ที่ทับเส้นทางในช่วง ถ.พระราม 1 ด้วย ดังนั้น สาย 54 จึงต้องปรับฟอนต์เลขสายให้มีลักษณะที่แตกต่างจากสาย 13 และ 15 ดังนั้น จึงเลือกใช้ฟอนต์ที่มีขนาดบางลง แต่ยังคงอ่านได้ชัดเจน

สาย 12 จะเลือกฟอนต์ที่มีความเรียบง่าย ตัวเลขหนาสม่ำเสมอกันเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นป้ายน้ำเงินที่ต้องใช้ความคมชัดมากขึ้น

นอกจากนี้ ควรเว้นระยะช่องไฟให้เหมาะสม ดังนั้น ต้องวางตำแหน่งการติดตั้งก่อน เพื่อให้รถแต่ละคันมีตำแหน่งตัวเลขที่ตรงกันมากที่สุด

ภาพจาก เพจเฟซบุ๊กขสมก.พร้อมบวก

การปรับปรุงป้ายไฟเลขสาย

เมื่อออกแบบเรียบร้อยแล้ว ก็เตรียมสติกเกอร์และอุปกรณ์สำหรับติดตั้ง เช่น บันไดปีน คัตเตอร์ แผ่นรองตัด อุปกรณ์การวัด อุปกรณ์รีดสติกเกอร์ เป็นต้น แล้วติดตั้งตามที่ได้ออกแบบไว้
ขสมก. มุ่งมั่นพัฒนาบริการ