เปิดข้อมูล “ชาวนา-ชาวประมง” เคลื่อนไหวร่างกายสูงสุด อีก 2 อาชีพสวนทางขยับร่างกายต่ำ

แฟ้มภาพ

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงชุดคู่มือข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับ ว่า คู่มือดังกล่าวมีทั้งหมด 9 เล่ม แบ่งเป็นคู่มือกิจกรรมทางกายสำหรับ 5 กลุ่มวัยคือ ปฐมวัย วัยเรียนวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยสูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศในการจัดทำ และอีกชุดคือกิจกรรมทางกายสำหรับ 4 อาชีพ คือ ชาวนา พนักงานบริษัท พนักงานขับรถ และชาวประมง ซึ่งร่วมกับ สสส.และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการจัดทำ โดยแต่ละอาชีพมีกิจกรรมทางกายแฝงอยู่ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่จะหนักหรือเบาขึ้นกับแต่ละกิจกรรมของอาชีพนั้นๆ โดยคู่มือกิจกรรมทางกายแต่ละอาชีพได้จัดทำขึ้นเป็น 4 อาชีพหลักของคนไทยที่มีกิจกรรมทางกายที่แตกต่างกันคือ ชาวนา ชาวประมง พนักงานออฟฟิศ และผู้ทำงานขับรถ

นพ.วชิระกล่าวว่า 1.อาชีพทำนามีการใช้พลังงานและแรงกล้ามเนื้อหลายส่วน โดยมีกิจกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงของฤดูทำนาคือ ช่วงเตรียมดิน ดำนา บำรุงข้าว และเกี่ยวข้าว มีการใช้พลังงานต่อวันจากการทำงานแต่ละช่วงคือ 1,579 1,413 1,409 และ 1,507 กิโลแคลอรี่ ตามลำดับ หรือคิดเป็นกิจกรรมทางกายคือระดับปานกลางถึงหนักประมาณ 360 นาทีต่อวัน หรือ 2,520 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าข้อแนะนำกิจกรรมทางกายในผู้ใหญ่ คือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ หากชาวนาต้องการมีกิจกรรมทางกายเพิ่มเติมหลังทำงาน สามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเพื่อความสนุกสนานหรือคลายเครียด แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมในทุกช่วงของการทำนาคือ เพิ่มความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ สร้างความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ เนื่องจากบางช่วงมีการใช้กล้ามเนื้อที่อาจทำให้บาดเจ็บได้ เช่น การก้มตัวเพื่อดำนาเป็นเวลานาน หรือการยกกระสอบเมล็ดข้าว เป็นต้น

นพ.วชิระกล่าวว่า 2.ชาวประมง มีกิจกรรมทางกาย 2 ช่วง คือ ช่วงทำประมง ระยะเวลาประมาณ 9 เดือน มีการใช้พลังงานต่อวันจากการทำงาน 3,022 กิโลแคลอรี่ หรือคิดเป็นกิจกรรมทางกายคือระดับปานกลางถึงหนักประมาณ 480 นาทีต่อวัน หรือ 3,360 นาทีต่อสัปดาห์ และช่วงพักในฤดูมรสุม 3 เดือน มีการใช้พลังงานต่อวัน 186 กิโลแคลอรี่ หรือมีกิจกรรมทางกายระดับเบา 180 นาทีต่อวัน หรือ 1,260 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งทั้งสองช่วงมีความแตกต่างของกิจกรรมมาก จึงแนะนำว่า ช่วงพักควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางหรือหนักอื่นๆ เพิ่ม เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ทำงานบ้าน เป็นต้น และควรบริหารร่างกายเพื่อสร้างความทนทานของกล้ามเนื้อ 2-3 วันต่อสัปดาห์ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้ครบทุกส่วน 5-7 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนช่วงทำประมงควรเพิ่มกิจกรรมสร้างความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ โดยเฉพาะระหว่างการทำงาน เพื่อให้กล้ามเนื้อที่เกร็งคลายตัว

นพ.วชิระกล่าวว่า 3.พนักงานบริษัท มักใช้เวลานั่งทำงานประมาณ 7 ชั่วโมงต่อวัน อาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคอ ไล่ หลัง นิ้วล็อก จากท่านั่งใช้คอมพิวเตอร์ โดยพนักงานบริษัทมีการใช้พลังงานต่อวันจากการทำงานประมาณ 600 กิโลแคลอรี่ มีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางในแต่ละวันผ่านรูปแบบการเดินสั้นๆ เช่น ไปขึ้นรถโดยสาร ถือว่าเป็นอาชีพที่มีกิจกรรมทางกายน้อย โดยกิจกรรมทางกายที่ควรทำคือ ระหว่างทำงานควรลุกยืนเดินทุก 2 ชั่วโมงให้ระบบเลือดไหลเวียนดี ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ลดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่เกร็ง ส่วนช่วงเลิกงานควรมีการเคลื่อนไหวแบบแอโรบิกอย่างน้อย 10 นาที สะสมให้ได้ 30 นาทีต่อวัน เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ขึ้นบันได ว่ายน้ำ เป็นต้น หากไม่มีเวลาว่าง ให้เคลื่อนไหวจากการทำงานบ้านแทน นอกจากนี้ ควรสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน เครื่องออกกำลังกายที่สาธารณะหรือฟิตเนส

นพ.วชิระกล่าวว่า และ 4.ผู้ทำงานขับรถ จะอยู่ในท่านั่งเป็นเวลานาน ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว โดยรูปแบบการเคลื่อนไหวของร่างกายคือมีท่าทางที่ซ้ำๆ และอยู่ในพื้นที่จำกัด และต้องบังคับรถตลอดเวลา ทำให้ต้องเกร็งกล้ามเนื้อหลายส่วน คอ ลำตัว แขน ขา ทำให้มีอาการเมื่อยล้า ทั้งนี้ คนทำงานขับรถมีการใช้พลังงานจากการทำงานต่อวันคือ 500 กิโลแคลอรี่ โดยแทบไม่มีกิจกรรมระดับปานกลางถึงหนักเลย ถือเป็นอาชีพที่มีกิจกรรมทางกายน้อยกว่าข้อแนะนำ หากจะเพิ่มกิจกรรมทางกายในอาชีพนี้ทำได้ใน 2 ช่วงคือ ระหว่างทำงาน ควรจอดรถหยุดพักทุก 2 ชั่วโมง ลุกขึ้นยืน เดิน เพิ่มการเผาผลาญ และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ส่วนช่วงเลิกงานควรทำกิจกรรมทางกายเพิ่มเติมคือ ออกกำลังกาย เล่นกีฬา สะสมให้ได้วันละ 30 นาที หากไม่สะดวกอาจใช้การทำความสะอาดรถเป็นตัวช่วย หรือทำงานบ้าน และอาจไปออกกำลังกายตามที่สาธารณะหรือฟิตเนสเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วย

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์