กรมควบคุมโรค เตือน PM 2.5 สะสมจำนวนมาก ขอประชาชนเตรียมรับมือ

ฝุ่น PM 2.5
แฟ้มภาพ

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนรับมือ ฝุ่น PM 2.5 ชี้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ในปริมาณมากอาจทำร่างกายอักเสบส่งผลให้เกิดความผิดปกติในระบบต่าง ๆ 

วันที่ 26 มกราคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงที่อากาศหนาว มีความกดอากาศปกคลุมพื้นที่ กั้นฝุ่นไว้ไม่ให้ลอยตัวสูงขึ้น ฝุ่นควันจึงถูกกักสะสมเป็นปริมาณมากในพื้นที่ ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในบางพื้นที่ยังต้องเฝ้าระวังคุณภาพอากาศที่อาจมีผลต่อสุขภาพ

เมื่อเรารับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เข้าสู่ร่างกายทางระบบหายใจ เนื่องจากขนาดของฝุ่น PM 2.5 เล็กมากสามารถลงไปถึงถุงลมปอดและอาจมีบางส่วนที่สามารถผ่านเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตได้ โดยทั่วไปร่างกายของมนุษย์จะรับรู้ได้ว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย และจะก่อสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ (Inflammation) รวมถึงอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายขึ้น ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบต่าง ๆ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาทและสมอง

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพจะสูงขึ้น ในบุคคลบางกลุ่ม ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง ซึ่งเสี่ยงต่อการสัมผัสมลพิษ ทางอากาศ เช่น ตำรวจจราจร พนักงานทำความสะอาดถนน คนขับรถรับจ้างประเภทสามล้อเครื่อง คนขับรถจักรยานยนต์ และ แม่ค้าหาบเร่แผงลอย เป็นต้น จึงขอแนะนำประชาชนให้ปฏิบัติตน ดังนี้

1. ติดตามรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่จากข้อมูลค่าตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น Air4thai เลี่ยงกิจกรรมบางชนิดในพื้นที่เสี่ยง เมื่อพบว่ามีค่าฝุ่นสูงในระดับสีส้มหรือสีแดง (มีปริมาณ PM 2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

2. ควรงดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น ลดการเผากลางแจ้ง หรือการเผาขยะ ปิดประตู ปิดหน้าต่าง ทำความสะอาดจุดต่างๆ ในบ้านด้วยผ้าชุบน้ำแทนการกวาดและเปิดพัดลมให้ระบายอากาศ หมั่นเช็กสภาพรถ ตรวจควันดำ เปิดระบบหมุนเวียนอากาศในรถ หรือใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมากขึ้น

3. สวมหน้ากากป้องกันให้แนบกระชับใบหน้า โดยใส่หน้ากากทิชชู่ 1 แผ่นพับครึ่งสอดไว้ใต้หน้ากากเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน และหากต้องออก จากบ้านในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูง ควรเลือกหน้ากากกรองอากาศ ชนิด N95 ที่สามารถป้องกัน ฝุ่นขนาดเล็ก PM 10 และ PM 2.5 แก๊สไอระเหยต่าง ๆ ได้ เพื่อป้องกันตนเอง

4. เลือกทานอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

ดังนั้น ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสภาพอากาศและมลภาวะก่อนออกจากบ้าน หลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานติดต่อกันเป็นเวลานานในพื้นที่ที่สถานการณ์คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งและหากมีอาการไอ หายใจลำบาก เคืองตา ควรลดกิจกรรมกลางแจ้ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422