ศบค.เผย กทม.นำโด่ง ติดโควิดสะสมปี’65 ยอดฉีดเข็ม 3 ทะลุ 13 ล้านคน

ฉีดวัคซีน เข็ม 3 -กทม.
เครดิตภาพ : สำนักอนามัย กทม.

ศบค.เผยพื้นที่ กทม.แค่ช่วงต้นปี ยอดติดเชื้อโควิดสะสมทะลุ 22,120 รายแล้ว ขณะที่วัคซีนเข็ม 3 ระดมฉีดได้เกินกว่า 13 ล้านคน ขยับใกล้ 19% ของประชากร เกาหลีใต้ทำสถิติใหม่ กลับมาพบผู้ป่วย/วันสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาด ส่วนสหรัฐพบยอดฉีดวัคซีนต่อวันลดฮวบเกือบเท่าตัว

วันที่ 27 มกราคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 พบผู้ป่วยรายใหม่ 8,078 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 183,587 ราย หายป่วยแล้ว 133,670 ราย เสียชีวิตสะสม 400 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,407,022 ราย หายป่วยแล้ว 2,302,164 ราย เสียชีวิตสะสม 22,098 ราย

ยอดฉีดวัคซีนเข็ม 3 เกิน 13 ล้านคน

ส่วนผู้มารับวัคซีน วันที่ 26 มกราคม 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 44,412 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 74,003 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 322,256 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 26 มกราคม 2565 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 113,622,267 โดส

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 52,174,471 ราย คิดเป็น 75% ของประชากร
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 48,355,039 ราย คิดเป็น 69.5% ของประชากร
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 13,092,757 ราย คิดเป็น 18.8% ของประชากร

ป่วยสะสม กทม.นำโด่ง 2.2 หมื่นราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ อันดับ 1 ยังเป็นกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 1,427 ราย โดยเพิ่มขึ้นเกินระดับพันราย/วันมา 8 วันติดต่อกันแล้ว และทำให้ตัวเลขยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 22,120 ราย

อันดับสองรองลงมาเป็นสมุทรปราการ 692 ราย (รวมสะสม 14,409 ราย) นนทบุรี 460 ราย ชลบุรี 334 ราย (รวมสะสม 15,617 ราย) ภูเก็ต 332 ราย ขอนแก่น 247 ราย นครศรีธรรมราช 204 ราย ปทุมธานี 195 ราย ราชบุรี 187 ราย และอันดับ 10 คืออุดรธานีและลพบุรีจำนวนเท่ากันคือ 129 ราย

ส่วนผู้เสียชีวิต 22 รายในวันนี้ เป็นชาย 12 ราย หญิง 10 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 16 ราย มีโรเรื้อรัง 3 ราย รวมสองส่วนนี้คิดเป็น 87% และมีผู้ที่ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 3 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงยังคงมาจากโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น

และเมื่อแยกตามพื้นที่ของผู้สียชีวิต พบว่าอยู่ในกทม. 2 ราย ปทุมธานีและนนทบุรีรวม 3 ราย ภาคอีสาน 6 ราย ได้แก่นครราชสีมา 2 ราย เลย กาฬสินธุ์ มหาสารคาม หนองบัวลำภู จังหวัดละ 1 ราย ภาคเหนือที่แม่ฮ่องสอน น่าน และลำปางรวม 3 ราย ภาคใต้ที่พัทลุง 2 ราย ระนอง 1 ราย

นอกจากนี้ยังมีที่กาญจนบุรี 2 ราย ชลบุรี 1 ราย พระนครศรีอยุธยา 1 ราย และสุพรรณบุรี 1 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อมาจากคนใกล้ชิด คนรู้จักและครอบครัวเป็นหลัก

เปิดประเทศแห่เข้าไทยจ่อ 6 แสนราย

สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2565 มีผู้เดินทางเข้ามาแล้วจำนวน 165,961 ราย พบผู้ติดเชื้อโควิดสะสม 5,990 ราย แต่เมื่อรวมยอดสะสมตั้งแต่เปิดประเทศ 1 พ.ย. 2564-26 ม.ค. 2565) มีผู้เดินทางเข้ามาแล้ว 589,639 ราย พบติดเชื้อโควิดสะสม 7,461 ราย(ตามตาราง)

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 363,064,303 ราย อาการรุนแรง 95,965 ราย รักษาหายแล้ว 286,903,746 ราย เสียชีวิต 5,645,889 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 74,176,403 ราย 2.อินเดีย จำนวน 40,369,585 ราย 3.บราซิล จำนวน 24,553,950 ราย 4.ฝรั่งเศส จำนวน 17,730,556 ราย 5.สหราชอาณาจักร จำนวน 16,149,319 ราย

โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลกจากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะม 2,407,022 ราย

เกาหลีใต้ทำสถิติพบป่วยใหม่สูงสุด

ศบค.ยังรายงานสถานการณ์โควิดในต่างประเทศ ว่าเกาหลีใต้ พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 13,012 ราย เป็นครั้งแรกที่เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด

ทั้งนี้เกาหลีใต้เริ่มบังคับใช้มาตรการใหม่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโดยมุ่งลดผู้ป่วยอาการหนักและลดการเสียชีวิต เริ่มบังคับใช้ใน 4 พื้นที่ คือ มหานครควังจู จ.ช็อลลาใต้ เมืองพย็องแท็กและอันซ็อง จ.คย็องกี

ส่วนสหรัฐอเมริกา จำนวนชาวอเมริกันที่ฉีดวัคซีนลดลงจากระดับสูงสุดที่ 1,000,000 โดสต่อวัน เหลือประมาณ 490,000 โดสต่อวัน (ผลสำรวจเมื่อต้น ธ.ค. 64) แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐ เรียกร้องให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันก็ตาม

ทั้งนี้ ชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนเข็มเริ่มต้นมากกว่าเข็มกระตุ้น โดยร้อยละ 59 เห็นความจำเป็นที่ต้องได้รับวัคซีนเพื่อสามารถใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้เต็มที่ ขณะที่ร้อยละ 47 เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น