กรมสุขภาพจิตย้ำโปรดเข้าใจ ‘ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า’ เหตุเกิดจากความผิดปกติสื่อประสาททางสมอง

จากกรณีเชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวง “Linkin Park (ลินคิน พาร์ค)” ได้ฆ่าตัวตาย ซึ่งแฟนคลับได้แสดงความเสียใจผ่านสังคมออนไลน์จำนวนมาก แต่ปรากฎว่าเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิกรณี ดีเจพล่ากุ้ง แสดงความเห็นผ่านเฟซบุกส่วนตัว ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการฆ่าตัวตาย เพราะมีแต่จะทำให้คนรอบข้างเดือดร้อน กระทั่งเจ้าตัวต้องออกมาแสดงความขอโทษในเวลาต่อมานั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก จำนวนกว่า 8 แสนคนต่อปี คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน ในปี 2563 โดยมีคนพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 20 เท่าตัว สำหรับประเทศไทย คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 2 ชั่วโมง ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน และ โรคซึมเศร้า ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย ซึ่ง โรคซึมเศร้า เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของประชาชน ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า ประชากรมากกว่า 300 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า หากไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องนานเป็นเดือน เรื้อรังเป็นปี จะกลับเป็นซ้ำได้บ่อย หากอาการซึมเศร้ารุนแรง อาจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคนี้ 1.5 ล้านคน

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักและไม่เข้าใจถึงความสูญเสียที่เกิดจากการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ตลอดจนมีอคติต่อผู้ป่วย มองเป็นความขี้เกียจ อ่อนแอ ซึ่งในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น ซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วย พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ สาเหตุมาจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การหลั่งฮอร์โมน การหลั่งสารสื่อประสาทผิดปกติ หรือ ปัจจัยภายนอก เช่น ความผิดหวัง ความสูญเสีย ความเครียด เมื่อปัจจัยเหล่านี้มารวมกัน ทำให้คนๆ นั้นเกิดภาวะซึมเศร้าได้ ความคิด ทัศนคติ การตัดสินใจ การมองโลก ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเปลี่ยนแปลงไป โดยที่ไม่สามารถบังคับความคิดของตัวเองได้ เพราะสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ ต่อให้จิตใจเข้มแข็งสักเท่าไหร่ก็ตาม

“ดังนั้น คนที่จากไป ไม่ใช่ว่าเขาไม่เข้มแข็ง แต่เป็นเพราะเขาเจ็บป่วย และสามารถรักษาให้หายได้ สิ่งจำเป็นที่สุด คือ การดูแลด้วยความตั้งใจและอดทน จากเพื่อน ครอบครัว และคนใกล้ชิด ที่จะช่วยให้อาการซึมเศร้าหายเร็วขึ้น การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจจะเป็นก้าวแรกในการฟื้นคืนจากโรคซึมเศร้า” อธิบดีฯกล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์