เปิดข้อมูลคนไทย “หย่าร้าง” สูงกว่าแสนคู่ แนะครอบครัวใช้กฎพิชิตปัญหารักร้าว

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า มีความเป็นห่วงสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพประชากรเพื่อสร้างอนาคตประเทศ จากสถิติประชากรไทยของกระทรวงมหาดไทยล่าสุดในปี 2559 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนครอบครัวทั้งหมด 25 ล้านกว่าครัวเรือน แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ขนาดครอบครัวต่างจากอดีตที่เป็นครอบครัวขยายมีพ่อแม่ลูก ปู่ย่า พี่น้องอยู่รวมกันลดลง จำนวนครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันเฉพาะพ่อแม่ลูกมีมากขึ้น ทำให้ครอบครัวคนไทยยุคใหม่มีความเปราะบางขึ้นและน่าเป็นห่วงต่อปัญหาการหย่าร้างและแยกทางกัน ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิตของลูกตามมาด้วย ข้อมูลกระทรวงมหาดไทยระบุว่าในปี 2559 มีคนไทยจดทะเบียนสมรสรวม 307,746 คู่ และมีผู้จดทะเบียนหย่าจำนวน 118,539 คู่ โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการหย่าร้างมีแนวโน้มสูงขึ้นจากร้อยละ 27 ในปี 2549 เพิ่มเป็นร้อยละ 39 ในปี 2559

“ปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุของการหย่าร้างประการหนึ่งคือ การได้รับแรงกดดันจากภายนอกเช่น ความเครียดจากการทำงาน สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัมพันธภาพภายในครอบครัว โดยเฉพาะในคู่สามีภรรยาการสื่อสารเชิงบวกถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา เพราะการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมหรือที่เรียกว่าฟังแล้วปรี๊ดหู มีผลบั่นทอนจิตใจและความรู้สึก อาจทำให้เรื่องเล็กๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ความสัมพันธ์เปราะบางและแตกหักลงในที่สุด” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตมีคำแนะนำสำหรับการใช้ชีวิตคู่ เพื่อสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและมีความสุข ให้ยึดหลักการร่วมกันสร้างกฎเหล็กในครอบครัวคือ “5 ข้อที่ต้องทำ 8 คำห้ามใช้ ” โดย 5 ข้อที่ต้องทำได้แก่ 1. ร่วมกันสร้างกฎของครอบครัวที่ทุกคนยอมรับและปฏิบัติได้ 2. เมื่อมีปัญหาต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข อย่าคิดว่าเป็นปัญหาของคนใดคนหนึ่ง 3. โต้เถียงกันได้ เป็นเรื่องธรรมดาของครอบครัว แต่ต้องไม่ตะคอกข่มขู่หรือยั่วโมโหอีกฝ่าย 4. เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้ตัวว่าเริ่มมีความโกรธเพิ่มขึ้น ให้เตือนสติตนเอง หยุดพูด เมื่อมีความพร้อมจึงกลับมาพูดกันใหม และ 5. เมื่อพร้อมที่จะแก้ปัญหา ควรหันหน้ามาร่วมกันปรึกษาหาทางแก้ไข และประการสำคัญต้องไม่ดูถูกความคิดของอีกฝ่าย

สำหรับ 8 คำพูดที่ห้ามใช้ในครอบครัว มีดังนี้ 1. คำสั่งเผด็จการ เช่น “เงียบไปเลย” “ทำอย่างนี้สิ” 2.คำพูดที่ประชดประชัน เปรียบเทียบ หรือพูดถึงปมด้อย เช่น “ก็เป็นซะแบบนี้ ถึงได้ดักดานอยู่แค่นี้”“ถ้าฉันแต่งงานกับแฟนเก่า ป่านนี้คงสบายไปแล้ว” 3. คำพูดท้าทาย เช่น “ถ้าแน่จริงก็เก็บของออกไปเลย” หรือ “พูดแบบนี้ก็เลิกกันไปเลยดีกว่า” 4. คำพูดเอาชนะกัน เช่น “ที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะแกนั่นแหละ” หรือ “เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของฉัน” 5. คำพูดที่ขุดคุ้ยเรื่องเก่ามาพูดซ้ำ เช่น “บอกกี่ทีๆ ก็ไม่เชื่อ ครั้งที่แล้วก็แบบนี้” “อยู่กินกันมา 10 ปีไม่เห็นเธอทำอะไรสำเร็จสักอย่าง 6. คำพูดเชิงกล่าวหา กล่าวโทษ เช่น “อย่ามาอ้างว่าติดประชุม ติดเด็กน่ะสิ” 7. คำพูดหยาบคาย และ 8. คำพูดล่วงเกิน เช่นพูดดูถูกเหยียดหยามบุพการีญาติพี่น้องของอีกฝ่าย ซึ่งคำพูดที่กล่าวมานี้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและการกระทำ ก่อให้ความรู้สึกด้านลบ เช่น โกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์