PM 2.5 รวมวิธีป้องกัน-แอปเช็กค่าฝุ่น หลังพบเกินมาตรฐาน 14 พื้นที่

PM 2.5 รวมวิธีป้องกัน-แอปเช็กค่าฝุ่น หลังพบเกินมาตรฐาน 14 พื้นที่

รวมวิธีป้องกันฝุ่น PM2.5 และแอปเช็กค่าฝุ่น หลังตรวจพบเกินค่ามาตรฐาน 14 พื้นที่ วันนี้ (8 ก.พ.)

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 วันนี้ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ณ เวลา 07.00 น. พบว่า ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 พบเกินค่ามาตรฐานใน 14 จังหวัด ได้แก่

1.กรุงเทพมหานคร

2.ปทุมธานี

3.สมุทรสาคร

4.สมุทรปราการ

5.ลพบุรี

6.สระบุรี

7.ราชบุรี

8.ปราจีนบุรี

9.ฉะเชิงเทรา

10.ระยอง

11.หนองคาย

12.นครพนม

13.อุบลราชธานี

14.นครราชสีมา

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมวิธีป้องกันและปฏิบัติตัวเมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน รวมถึงช่องทางตรวจเช็กสภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน

ลักษณะ-ผลกระทบ PM 2.5

วันที่ 10 ตุลาคม 2562 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า PM 2.5 เป็นอนุภาคขนาดเล็กมีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซ สามารถนำพาสารต่าง ๆ ล่องลอยอยู่รอบตัวเราได้ในปริมาณสูง

ทำให้เกิดเป็นหมอกควันที่เป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ คนทั่วไปที่สูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไปจะมีอาการระคายเคืองจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ แต่สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบการหายใจ รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดจะทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบขึ้นมาได้ ส่วนในระยะยาวอาจก่อมะเร็งปอดและทำให้สมรรถภาพปอดของเยาวชนถดถอย

กรุงเทพมหานครมีฝุ่นชนิด PM 2.5 ที่เป็นมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติมากเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อไหร่ที่อุณหภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเร็ว ความชื้นในอากาศสูงขึ้น ลมอับ แสงแดดยังไม่ได้เวลามาเยือน ประกอบกับกรุงเทพฯ มีอาคารสูงจำนวนมาก ก็จะทำให้การไหลถ่ายเทอากาศในยามลมอับไม่ดี ไม่ต่างกับจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นเมืองแอ่งกระทะตามธรรมชาติ ก็จะเกิดปรากฏการณ์ “impaction” หมายถึง ฝุ่นขนาดเล็ก คือ PM 2.5 ฟุ้งกระจายออกไปได้ยาก

เจ้าฝุ่น PM 2.5 ตัวร้ายนี้จะมีผลเสียต่อสุขภาพมนุษย์ที่สำคัญทันทีทันใด คือ

  1. ทำให้ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังทุกชนิดมีอาการกำเริบ
  2. ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมีอาการกำเริบ ทั้งนี้ ไม่นับผลระยะยาวที่มีอีกมากมาย

แนวทางการป้องกัน

นอกจากนี้ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับฝุ่นขนาดเล็กดังนี้

  1. ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศจากแหล่งของกรมควบคุมมลพิษที่มีครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ใช่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น
  2. ถ้าเห็นค่าปริมาณ PM 2.5 เป็นสีแดง แสดงว่าสูงเกินค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลกที่ค่าเฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมงไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
  3. เมื่อเห็นแล้วควรหลีกเลี่ยงเดินทางออกจากที่พักอาศัยจนกว่าระดับจะลดลงมาเป็นสีส้ม ที่ยังพอจะยอมรับได้
  4. ถ้าจำเป็นจะต้องเดินทาง สำหรับคนที่ไม่มีโรคเรื้อรังที่รุนแรงดังกล่าวมาแล้ว แนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่นอกอาคาร โดยต้องสวมให้ถูกวิธีและกระชับกับใบหน้าส่วนปากและจมูกให้มากที่สุด
  5. ถ้าเป็นคนที่มีโรคเรื้อรังที่รุนแรงดังกล่าวมาแล้ว ไม่ควรออกจากบ้าน แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ เช่น ต้องไปโรงพยาบาลพบแพทย์ตามนัด ให้ใช้หน้ากากชนิด N95 ซึ่งพอจะช่วยกรองเจ้าตัวฝุ่นร้ายขนาดเล็กนี้ได้ในปริมาณที่มากกว่าหน้ากากอนามัยธรรมดา แต่ต้องมีการตรวจสอบหลังการใส่ว่าหน้ากากนั้นกระชับรูปหน้าจริงตามคำแนะนำที่ปรากฏบนซองของหน้ากากนั้น ๆ

แอปฯ เช็กค่าฝุ่น

นอกจากแนวทางปฏิบัติแล้ว เราสามารถตรวจสอบค่าฝุ่นแต่ละพื้นที่ก่อนออกจากบ้านได้ เพื่อเตรียมตัวหรือหลีกเลี่ยงพื้นที่นั้น ด้วยแอปพลิเคชั่นต่อไปนี้

Air4Thai แอปพลิเคชั่น จากกรมควบคุมมลพิษ รายงานดัชนี คุณภาพอากาศของประเทศไทย โดยมีข้อมูลรายชั่วโมง และข้อมูลรายวัน กราฟแสดงคุณภาพอากาศย้อนหลัง 7 วัน พร้อมแผนที่แสดงข้อมูลจากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ

AirBKK แอปพลิเคชั่นดี ๆ จากกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ที่รายงานและตรวจสอบคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ ความเสี่ยงต่อสุขภาพ ระยะเวลาที่สามารถอยู่ในพื้นที่นั้นได้อย่างปลอดภัย

ศูนย์เฝ้าระวังข้อมูลคุณภาพอากาศ จาก ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ วช. ที่ประเมินคุณภาพอากาศว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพตามพิกัดต่าง ๆ

Real time AQI แอปพลิเคชั่นที่ช่วยรายงานคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ สามารถเช็คมลพิษตามพื้นที่ต่างๆได้ทั่วโลกในเวลาจริง เช่น เอเชีย ยุโรป อเมริกา เป็นต้น

Thailand Air รายงานคุณภาพอากาศทั่วประเทศ โดยสามารถเลือกพื้นที่ได้ รวมถึงมีค่าสี สำหรับการบอกพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นที่เป็นอันตราย หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพในระดับไหน
ขณะที่ภาคเหนือ ก็ต้องเผชิญกับ ฝุ่น PM2.5 มาต่อเนื่อง ก็มีแอปพลิเคชั่นติดตามค่าฝุ่นแบบเรียลไทม์เฉพาะจังหวัดด้วย

ทั้ง ยักษ์ขาว แอปพลิเคชั่นวัดฝุ่นสัญชาติไทย จากความร่วมมือของ 3 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาเชียงราย และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เพื่อติดตามค่าฝุ่นแบบเรียลไทม์ ที่เชื่อมโยงโครงข่ายสถานีวัดฝุ่นของโรงเรียนในเครือข่ายในจังหวัดเชียงราย

ส่วนเชียงใหม่ก็มี AirCMI แอปพลิเคชั่นวัดคุณภาพอากาศ แสดงค่าฝุ่น PM2.5 จากเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น โดยมีเครื่องวัดในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 200 จุด มีติดเครื่องไว้ ไม่เสียหาย

GISTDA ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาแอป “เช็กฝุ่น” ซึ่งเป็นการนำฐานข้อมูลของข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลจากสถานีตรวจวัดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ PM 2.5 เชิงพื้นที่ มาผสมผสานเชื่อมโยงกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ชั่วโมงต่อชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้รับรู้ และเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว และถูกต้อง สามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันอันตรายจากมลพิษทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ