อัพเดตยานยนต์ไฟฟ้า “คมนาคม” 3 โหมด EV Bus-EV Boat-EV on Train

EV

EV-ยานยนต์ไฟฟ้า ในระบบขนส่งสาธารณะ โปรเจ็กต์ไฮไลต์เพื่อบอกรักษ์โลกของกระทรวงคมนาคม

ต้นเรื่องมาจาก “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (Conference of the Parties : COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

และได้กล่าวถ้อยแถลงประกาศเจตนารมณ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้ประเทศไทย บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593, บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2608

กลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ประเทศไทยจะสามารถยกระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution : NDC) ขึ้นเป็น 40% จากเดิมที่กำหนดไว้ 20-25%

นำมาสู่การวางเป้าหมายดำเนินการร่วมกันระหว่าง “บอร์ด EV-คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ” กับ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

EV

3 โหมดอีวี “รถบัส-เรือ-รถไฟ”

หัวเรือใหญ่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อัพเดตผลดำเนินงานว่ามีความคืบหน้าเป็นลำดับ ที่ผ่านมามีข้อสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงคมนาคม ให้มาระดมสรรพกำลังผลักดันสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม

โดย “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำร่างแผนยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า กระทรวงคมนาคม ปี 2565-2580 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา

โดยประกอบด้วย 3 โหมดหลัก คือ 1.การผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถขนส่งสาธารณะ หรือ “EV Bus” 2.การผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับเรือโดยสารสาธารณะ หรือ “EV Boat” และ 3.การผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถไฟ หรือ “EV on Train”

3 หน่วยแจ้งเกิด EV Bus

โหมดแรก การผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถขนส่งสาธารณะ หรือ “EV Bus” แบ่งงานกันทำอย่างน้อย 3 หน่วยงาน โดยมี “ขบ.-กรมการขนส่งทางบก” หน่วยงาน regulator ซึ่งได้ดำเนินการลุล่วงไปแล้วในปี 2564 ในการเปิดรถบัส EV วิ่ง 1 เส้นทาง กับเปิดให้รถร่วมเอกชนวิ่ง 13 เส้นทาง (ดูกราฟิกประกอบ)

ปี 2565 กรมการขนส่งฯอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรการภาษี และยกร่างกฎหมายยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ

อีก 2 หน่วยเป็นผู้ปฏิบัติ ได้แก่ “ขสมก.-องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ” จึงเรียกว่า “รถเมล์ EV” ตามแผนฟื้นฟูกิจการในปี 2565 จัดหารถเมล์ EV จำนวน 2,511 คัน กับจ้างเอกชนเดินรถ 1,500 คัน ซึ่งใช้เทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ทั้ง EV,NGV, LNG

อีกหน่วยคือ “บขส.-บริษัท ขนส่ง จำกัด” จึงเรียกว่า “รถบัส EV” ซึ่งแผนงานปี 2565 จะมีการจัดหารถบัส EV จำนวน 401 คัน แบ่งเป็นรถ บขส. 184 คัน กับรถเช่าเอกชน 217 คัน เพื่อมาทดแทนรถรุ่นเก่าที่มีอายุการใช้งานนาน 11-20 ปี

ข้อมูลเพิ่มเติม 13 เส้นทางของยานยนต์ไฟฟ้า แบ่งเป็น รถเมล์ EV 11 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.สาย 1551 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะฯ-รพ.จุฬาภรณ์ 2.สาย ปอ.6 ท่าเรือพระประแดง-บางลำพู 3.สาย ปอ.7 โรงเรียนศึกษานารี-หัวลำโพง 4.สาย ปอ.35 เคหะธนบุรี-บางลำพู 5.สาย 39 รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

6.สาย 80 หมู่บ้าน วปอ.11-สวนหลวงพระราม 8 7.สาย ปอ.56 วงกลมสะพานกรุงธน-บางลำพู 8.สาย 120 สมุทรสาคร-แยกบ้านแขก 9.สาย 132 พระโขนง-การเคหะบางพลี 10.สาย 133 การเคหะบางพลี-สถานีรถไฟฟ้าเอกมัย และ 11.สาย ปอ.207 ม.รามคำแหง 2 บางนา-ม.รามคำแหง

อีก 2 เส้นทางเป็นรถมินิบัส EV โดย บขส. รถหมวด 4 สายที่ 8594 สนามบินเบตง-อ.เบตง-ด่านพรมแดนเบตง กับรถหมวด 1 จังหวัดเชียงใหม่ สายที่ 6 เป็นรถปรับอากาศ วิ่งวนซ้าย-วนขวารอบเมือง

EV

EV Boat เปิดหวูดแม่น้ำ-ทะเล

โหมดที่ 2 การผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับเรือโดยสารสาธารณะ หรือ “EV Boat” แบ่งกว้าง ๆ เป็น EV Boat ในแม่น้ำคูคลอง ซึ่งยุคโควิดมีผลงานเป็นลำดับในปี 2563-2564 ที่ผ่านมา 4 เส้นทางด้วยกัน ในแม่น้ำเจ้าพระยาวิ่งแล้ว 12 ลำ จะเพิ่มอีก 15 ลำ, คลองแสนแสบ ตามแผนคือ 1+12 ลำ, คลองผดุงกรุงเกษม 8 ลำ และคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี 2+1 ลำ

อีกเวอร์ชั่นคือ EV Boat ในทะเล ในยุคโควิดที่ผ่านมาเปิดบริการเส้นทางท่าเรือสิชล-เขาพลายดำ 1 ลำ

โดยแผนภาพใหญ่ของ EV Boat ปี 2564 วิ่งบริการแล้ว 24 ลำ ปี 2565 จะเพิ่มอีก 28 ลำ

EV รถไฟ ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม

โหมดสุดท้าย การผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถไฟ หรือ “EV on Train” เนื่องจากเป็นของหนักและชิ้นใหญ่ ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทยเพิ่งลงนามร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางด้านรถจักรล้อเลื่อนเพื่อพัฒนาสู่ระบบไฟฟ้า เมื่อ 15 กันยายน 2564

ดังนั้น ปี 2565 จึงเป็นปีแห่งข้อมูลวิชาการเพื่อศึกษาความคุ้มค่าและรูปแบบรถไฟ EV จากนั้นในปี 2566 วางแผนเป็นปีเริ่มมีการลงมือดัดแปลงรถไฟ EV จากรถจักรเก่า และขั้นตอนทดสอบทำ 2 เวอร์ชั่นด้วยการทดสอบในศูนย์ทดลอง กับทดสอบด้วยการเปิดวิ่งในเส้นทางจริง

ภายใต้วิสัยทัศน์ ยกระดับการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำ-ถนน-ราง ให้ปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศและระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ไฮไลต์ของระบบ EV กระทรวงคมนาคมยังรวมถึงในอนาคต จะผลักดันให้มีการใช้รถแท็กซี่พลังงานสะอาดเป็นสเต็ปต่อไป

ตร.EV 2