ภัยแล้ง โจมตีเมืองกรุง กทม.กางแผนรับมือ 6 ด้าน

น้ำประปาไม่ไหลคืน 18 ก.พ.
ภาพโดย Michal Jarmoluk จาก Pixabay

กทม.เตรียมรับมือภัยแล้งปี 2565

จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาภัยแล้งที่จะตามมา

งานนี้ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักและสำนักงานเขตเตรียมแผนรองรับอย่างใกล้ชิดทั้ง 6 ด้าน

ได้แก่ 1.ด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค 2.ด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร 3.ด้านปัญหาน้ำเค็มเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง 4.ด้านถนนทรุดตัวรวมทั้งคลองสายต่าง ๆ 5.ด้านการสาธารณสุข (โรคระบาด) และ 6.ด้านเพลิงไหม้อาคารและเพลิงไหม้หญ้า

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

เพื่อเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัย การจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้ทันท่วงที

โดยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ พื้นที่รับผิดชอบกว่า 1,500 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบปัญหาภัยแล้งเล็กน้อย

อาทิ มีเกษตรกรในพื้นที่เขตทุ่งครุ 369 ครัวเรือน เริ่มขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ทาง “สำนักงานเขตทุ่งครุ” ได้จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำในกรณีเร่งด่วนสำหรับบริการน้ำจืดให้กับเกษตรกรที่มีความจำเป็น

หรือกรณีสำนักงานเขตบางคอแหลมได้แก้ไขปัญหาน้ำเค็ม มีการจัดหาแหล่งน้ำใหม่มาใช้ในการรดน้ำต้นไม้ โดยใช้น้ำจากโรงบำบัดน้ำช่องนนทรี เป็นต้น

สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ “สำนักการระบายน้ำ” ได้ขุดลอกคลองสายรองเพื่อผันน้ำจากคลองสายหลักเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ เช่น “เขตคลองสามวา” มีการขุดลอกคลองแปดเปิดทางน้ำไหลมาถึงคลองสี่ตะวันออกได้มากขึ้น

“เขตลาดกระบัง” ขุดลอกคลองผันน้ำจากคลองลำปลาทิวไหลเข้าสู่คลองลำพะอง คลองกระทุ่มล้ม และคลองลำตาอิน ทำทำนบชั่วคราวพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณคลองตาสอน

ทั้งนี้ วงจรปัญหาภัยแล้งทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรดน้ำต้นไม้ ล้างถนน ล้างตลาด ล้างเครื่องจักรภายในโรงงานอาจได้รับผลกระทบ ทาง กทม.มีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงควบคุมคุณภาพน้ำขนาดใหญ่ 8 แห่ง รวมปริมาณน้ำบำบัด 815,000 ลบ.ม./วันแจกจ่ายให้กับประชาชน

ประกอบด้วย โรงบำบัดน้ำสี่พระยา 15,000 ลบ.ม./วัน, รัตนโกสินทร์ 20,000 ลบ.ม./วัน, ช่องนนทรี 100,000 ลบ.ม./วัน, หนองแขม 140,000 ลบ.ม./วัน, ทุ่งครุ 60,000 ลบ.ม./วัน, จตุจักร 140,000 ลบ.ม./วัน, ดินแดง 240,000 ลบ.ม./วัน และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ 100,000 ลบ.ม./วัน