“บิ๊กเต่า” ตรวจมลพิษหน้าพระลาน ชี้ต้นปี-ปลายปีฝุ่นสูงเกินมาตรฐานตลอด

วันที่ 15 ธันวาคม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงพื้นที่เพื่อมอบนโยบายแนวทางและมาตรการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี กล่าวว่า ความสุขของประชาชนคือหัวใจหลักของรัฐบาล การทำเหมืองมีจำเป็น แต่เราจะทำอย่างไรให้มีความสมดุลด้านสุขภาพ วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม การทำเหมืองเป็นปัญหาอดีตที่ผ่านมา สถานการณ์วันนี้ดีขึ้นกว่า ปี 2547 แต่ต้องทำให้ดีกว่านี้ ซึ่งต้องเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมปรับวิถีการทำเหมืองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการเหมืองต้องมีหลักธรรมาภิบาลเพื่อให้สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต สุขภาพของประชาชนดีขึ้น

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า พื้นที่ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2547 เนื่องจากประสบปัญหาฝุ่นละอองในบรรยากาศมีค่าสูงเกินมาตรฐานค่อนข้างมาก สาเหตุหลักเนื่องมาจากเป็นพื้นที่ที่มีการประกอบกิจการโรงโม่บดหรือย่อยหิน เหมืองหิน โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานปูนขาว โรงแต่งแร่ และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งการจราจรและบรรทุกขนส่งในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีเหมืองหิน 7 แห่ง โรงโม่ บด ย่อยหิน 32 แห่ง โรงแต่งแร่ 11 แห่ง โรงปูนขาว 4 แห่ง และโรงปูนซีเมนต์ 3 แห่ง นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับเขตควบคุมมลพิษยังมีการประกอบการในลักษณะะเดียวกัน ส่งผลกระทบต่อการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง ในเขตควบคุมมลพิษ

นางสุณีย์กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี ปี 2560 มีจำนวนวันที่ฝุ่นเกินมาตรฐานมากกว่า ปี 2559 เพิ่มขึ้นจาก 89 วัน เป็น 107 วัน มีค่าระหว่าง 19 – 257 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งค่ามาตราฐานไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ในช่วงต้นปี และปลายปี มักจะตรวจพบว่ามีแนวโน้มฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) ในบรรยากาศสูงเกินมาตรฐานติดต่อกันหลายวัน ซึ่ง จ.สระบุรีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ เพื่อใช้จัดการปัญหาดังกล่าว รวมทั้งมีการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดมุ่งหมายในการทาให้ฝุ่นละอองในพื้นที่ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี และเพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่

 

ที่มา : มติชนออนไลน์