อธิบดีคุก ยันพักโทษกรณีพิเศษ “กำนัน เป๊าะ” โปร่งใส ทำตามหลักเกณฑ์ ตรวจสอบได้

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงความแตกต่างการพิจารณาการพักโทษกรณีพิเศษ กับกรณีปกติว่า  การพิจารณาพักการลงโทษของผู้ต้องขังนั้น จะมีคณะกรรมการพักการลงโทษ ซึ่งปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ประกอบด้วยผู้แทนจากหลายหน่วยงาน  อาทิ เช่น อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีกรมคุ้มครอง สิทธิและเสรีภาพ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ผู้แทนกรมสุขภาพจิต ผู้แทนสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ผู้แทนสํานักงานศาลยุติธรรม และผู้แทนสํานักงานอัยการสูงสุดเป็นกรรมการ

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า  โดยคณะกรรมการจะพิจารณารายชื่อนักโทษที่ต่างเรือนจำแต่ละแห่งเสนอขั้นมา ว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่  หากเป็นการพักโทษกรณีปกติ จะมีหลักเกณฑ์หลักๆ คือต้องจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 และเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จก็จะเสนอไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อลงนามเสนอให้พักโทษ นักโทษที่เข้าหลักเกณฑ์  ส่วนการพักโทษกรณีพิเศษ เช่นกรณีของนายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ  นั้น คณะกรรมการชุดเดียวกันพิจารณา แต่หลักเกณฑ์ของพักโทษกรณีพิเศษ ต้องจำคุกมาแล้ว 1 ใน3  เป็นนักโทษชรา 70 ปี  มีเหตุเช่นป่วยร้ายแรง คณะกรรมการจะให้กรมราชทัณฑ์ เสนอ ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งเป็นการทำงานตามขั้นตอนปกติ ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ เหตุที่ต้องให้พักโทษกรณีมีเหตุพิเศษของนายสมชาย เพราะเข้าโครงการดังกล่าว คณะกรรมการก็เสนอไปยังผู้มีอำนาจตามกฎหมาย คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

“กรมราชทัณฑ์ทำทุกอย่างตามขั้นตอนโปร่งใส ตรวจสอบได้ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ทุกอย่างว่ากันไปตามขั้นตอนหลักเกณฑ์” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว

 รายงานข่าวระบุว่า สำหรับเรื่อง หลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป พ.ศ.2560 ที่คณะกรรมการพักโทษพิจารณานั้น  กรมราชทัณฑ์ได้การประกาศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 มีนายกอบเกียรติ กสิวิฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในขณะนั้นเป็นผู้ลงนาม  ซึ่งโครงการลักษณะดังกล่าวจะมีทุกปี และเมื่อประกาศแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการเรือนจำ ผอ.ทัณฑสถาน แต่ละแห่งก็จะมีกรรมการเรือนจำ เพื่อคัดเลือกพิจารณาผู้ต้องขังที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่ประกาศ เสนอรายชื่อมาตามลำดับขั้นก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ
ที่มา มติชนออนไลน์