เปิดเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ…ข้อกังขา “กำนันเป๊าะ” พ้นเรือนจำ!

กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตา กรณีพักโทษกรณีพิเศษ “กำนันเป๊าะ” หรือ นายสมชาย คุณปลื้ม อายุ80ปี อดีตนายกเทศมนตรีเมืองพัทยา ผู้กว้างขวางในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ศาลพิพากษาจำคุกคดีทุจริตจัดซื้อที่ทิ้งขยะเขาไม้แก้ว 5 ปี 4 เดือน และคดีจ้างวานฆ่ากำนันยูร 25 ปี รวมโทษจำคุก 30 ปี 4 เดือน โดย”กำนันเป๊าะ”ป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะที่4 ก่อนได้รับการพักโทษ ถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจนานนับปี

พักโทษปกติ กับพักโทษกรณีพิเศษ ต่างกันอย่างไร?!!

จากคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ สรุปได้ว่า หากเป็นการพักโทษกรณีปกติ จะมีหลักเกณฑ์หลักๆคือต้องจำคุกมาแล้ว2ใน3 เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จจะเสนอไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อลงนามเสนอให้พักโทษ

“ส่วนการพักโทษกรณีพิเศษ เช่น กรณีของ”กำนันเป๊าะ”นั้น ต้องถูกจำคุกมาแล้ว 1ใน3 เป็นนักโทษชราอายุ70ปี มีเหตุเช่นป่วยร้ายแรง คณะกรรมการพิจารณาการพักโทษ จะให้กรมราชทัณฑ์ เสนอ ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เหตุที่ต้องให้พักโทษกรณีมีเหตุพิเศษของนายสมชาย เพราะเข้าโครงการดังกล่าว”พ.ต.อ.ณรัชต์ระบุ

“มติชนออนไลน์” ตรวจสอบเกณฑ์การพักโทษกรณีพิเศษ ตามประกาศกรมราชทัณฑ์ “เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่70ปี ขึ้นไป พ.ศ.2560” มีสาระสำคัญ ดังนี้

นักโทษเด็ดขาดที่จะได้รับการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่70ปีขึ้นไป ต้องมีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ทั่วไป อาทิ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า1ใน3ของกำหนดโทษครั้งหลังสุด หรือไม่น้อยกว่า10ปี ในกรณีโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา ไม่มีคดีอายัดหรือหมายจับหรือมีโทษกักขัง มีผู้อุปการะและยินดีรับอุปการะ กรณีที่นักโทษเด็ดขาดไม่มีผู้อุปการะให้เรือนจำประสานไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลให้การช่วยเหลือระหว่างคุมประพฤติ

นักโทษเด็ดขาดที่จะได้รับการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากมีอาการเจ็บป่วยร้ายแรง ให้คณะกรรมการพักการลงโทษพิจารณาโดยคำนึงถึงอาการเจ็บป่วยร้ายแรง ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดและอาการอยู่ในระยะอันตรายอาจถึงแก่ความตาย เช่น ไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็งระยะที่3 หรือระยะที่4 โรคเอดส์หรือภูมิคุ้มกันบกพร่องระยะมีโรคแทรกซ้อนแสดงอาการร้ายแรงอันอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตหรือก่อให้กเกิดความพิการ เป็นต้น

การพิจารณาถึงความเจ็บป่วยตามวรรคหนึ่ง ให้นำหนังสือหรือมีเอกสารรับรองอาการเจ็บป่วยร้ายแรง ซึ่งแพทย์ของทางราชการ จำนวน 2 คน ได้ตรวจรับรองว่าไม่สามารถจะรักษาให้หายได้มาประกอบการพิจารณาพักการลงโทษ

นักโทษเด็ดขาดที่จะได้รับการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากความพิการให้คณะกรรมการพักการลงโทษพิจารณาโดยคำนึงถึงความบกพร่องทางการเห็น ทางการเคลื่อนไหว ทางจิตใจหรือพฤติกรรม หรือทางสติปัญญา ซึ่งส่งผลทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นภาระให้ผู้อื่นดูแลและเป็นความพิการที่ปรากฏขึ้นภายหลังการกระทำผิดในคดีที่ต้องโทษอยู่ในเรือนจำ โดยให้นำหนังสือหรือเอกสารรับรองความพิการจากแพทย์ของทางราชการจำนวน2คน ซึ่งได้ตรวจรับรองว่าเป็นคนพิการมีลักษณะอันเห็นได้ชัดอย่างหนึ่งอย่างใด อาทิ

ความพิการทางการเห็น หมายถึง ตาบอดทั้ง2ข้าง ความพิการทางการเคลื่อนไหว หมายถึง แขนขาดทั้ง2ข้าง ตั้งแต่ข้อมือขึ้นไป ขาดขาดทั้ง2ข้าง ตั้งแต่ข้อเท้าขึ้นไป หรืออัมพาตครึ่งท่อนล่างหรือครึ่งซีก หรืออัมพาตทั้งตัวทั้งแขนและขา

ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หมายถึง มีอาการผิดปกติกลุ่มโรคสมองเสื่อม กลุ่มโรคที่มีอาการทางจิตผิดปกติจากสมองหรือโรคทางกาย กลุ่มโรคจิตเภท กลุ่มโรคผิดปกติทางอารมณ์และมีอาการทางจิต เมื่อได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ยังมีอาการคงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และมีพฤติกรรมรบกวนความสงบของผู้อื่น หรือยังคงอยู่ตามลำพังไม่ยุ่งกับใครและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ความพิการทางสติปัญญา หมายถึง ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้ หรือไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบุคคลอื่นได้ และความพิการอื่นๆ เช่น พิการทางการหายใจ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา เป็นต้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์