รู้จัก รถไฟฟ้าสายสีเทา “วัชรพล-ทองหล่อ” เชื่อม 5 สายหลัก เปิดใช้ปี 2573

รถไฟฟ้าสายสีเทา

รู้จัก โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา เริ่มแผนแรกเส้นทางส่วนเหนือ “วัชรพล-ทองหล่อ” คาดแล้วเสร็จปี 2573 เปิดเส้นทางเชื่อมต่อ 5 รถไฟฟ้าสายหลัก

วันที่ 18 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว โมโนเรลสายสีเทา (Monorail) เป็นอีกหนึ่งโครงการรถไฟฟ้าที่จะนำร่องบนเส้นทาง “วัชรพล-ทองหล่อ” ซึ่งคาดว่า จะเปิดให้บริการในปี 2573 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการโครงการดังกล่าว เมื่อช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา

“ประชาชาติธุรกิจ” พาทำความรู้จัก “รถไฟฟ้าสายสีเทา” มีเส้นทางผ่านในจุดสำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีการจราจรบนท้องถนนหนาแน่น อย่าง ถนนลาดพร้าว พระราม 9 สุขุมวิท เป็นต้น

รู้จัก รถไฟฟ้าสายสีเทา

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา เป็นหนึ่งในโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ใช้ช่วงสถานีวัชรพล-ทองหล่อ (สายสีเทาส่วนเหนือ) เป็นเส้นทางนำร่องในช่วงแรก ระยะทางรวม 16.3 กม. วงเงินการก่อสร้าง 27,500 ล้านบาท มีสถานีทั้งหมด 15 สถานี ใช้ระยะเวลาในการเดินทางไป–กลับ ประมาณ 62 นาที คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 8,000 – 30,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง

เช็กเส้นทาง เชื่อม 5 รถไฟฟ้าสายหลัก

แนวเส้นทางของโครงการ มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับรามอินทรา เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีวัชรพล จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งลงใต้ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรมฝั่งทิศทางขาออก ผ่านถนนอยู่เย็นถนนสุคนธสวัสดิ์

ข้ามถนนเกษตรนวมินทร์ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่สถานีคลองลำเจียก ผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถนนลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีฉลองรัช และผ่านถนนพระราม 9 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีพระราม 9

จากนั้น แนวเส้นทางจะยกข้ามรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเพชรบุรี และเลี้ยวซ้ายเข้าซอยสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) และมาสิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีทองหล่อที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สายสุขุมวิท)

รถไฟฟ้าสายสีเทา

คาดเปิดใช้งานปี 2573

สำหรับไทม์ไลน์การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเทา ทางกรุงเทพมหานคร คาดว่าจะสามารถสรุปผลการศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมได้ ภายในปี 2565 พร้อมเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการภายในปี 2566 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้ภาคเอกชนยื่นข้อเสนอประมูลได้ ในช่วงปี 2567-2568 ใช้เวลาก่อสร้าง ทั้งสิ้นประมาณ 4 ปี ระหว่าง ปี 2569-2572 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2573

2 เส้นทางส่วนใต้ อยู่ระหว่างศึกษา

นอกจากนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ยังมีส่วนต่อขยายในส่วนใต้ อีก 2 ช่วง ซึ่งอยู่ในระหว่างศึกษาความเหมาะสมของโครงการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สายสีเทาส่วนใต้ ช่วงที่ 1

โครงการในส่วนใต้ช่วงที่ 1 มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณแยกพระโขนง จุดตัดถนนสุขุมวิท กับถนนพระรามที่ 4 แล้ววิ่งตามเส้นทางถนนพระรามที่ 4 มาจนถึงสี่แยกวิทยุ แนวเส้นทางจะเบี่ยงลงไปยังถนนสาทรโดยใช้คลองสาทรเป็นแนวเส้นทางจนถึงแยกสาทร-นราธิวาส

แนวเส้นทางจะเบี่ยงซ้ายเข้าถนนนราธิวาสราชนครินทร์แล้ววิ่งตามเส้นทางเดียวกับ รถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) สายสาทร-ราชพฤกษ์ แล้วเบี่ยงขวาสิ้นสุดเส้นทางบริเวณซอยพระรามที่ 3 ซอย 58 รวมระยะทาง 12.17 กิโลเมตร มีทั้งสิ้น 15 สถานี

สายสีเทาส่วนใต้ ช่วงที่ 2

โครงการในส่วนใต้ช่วงที่ 2 แนวเส้นทางต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้ เริ่มจากบริเวณซอยพระรามที่ 3 ซอย 58 วิ่งตามแนวถนนพระรามที่ 3 ลอดใต้ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม, สะพานพระราม 9 (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร)

แล้วข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณช่องว่างระหว่างสะพานพระราม 3 กับสะพานกรุงเทพ เข้าสู่ฝั่งธนบุรี ผ่านสี่แยกมไหสวรรย์เข้าสู่ถนนรัชดาภิเษก และสิ้นสุดเส้นทางบริเวณแยกท่าพระ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล รวมระยะทาง 11.48 กิโลเมตร มี 9 สถานี

อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ยังไม่มีความชัดเจนเท่าไรนัก แม้ล่าสุด กรุงเทพมหานคร กำลังจะเปิดการประชุมสัมมนาและทดสอบความสนใจการลงทุนของภาคเอกชนก็ตาม เนื่องจากอยู่ในช่วงที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจทำให้แผนงานอาจมีการปรับเปลี่ยนหรือชะลออีกครั้ง หลังเคยพับเก็บไปแล้วถึง 2 ครั้ง ตั้งแต่มีการเสนอแผนก่อสร้างมา