ตั๋วร่วมศักดิ์สยาม จุดพลุ EMV นำร่อง 3 รถไฟฟ้า ยกเว้นค่าแรกเข้า

บีทีเอส-รถไฟฟ้า

คืบหน้าไปอีกขั้นสำหรับการแก้ไขปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาแพง

คมนาคมจุดพลุ EMV

แนวทางหลักของกระทรวงคมนาคมคือ การผลักดันให้มีการใช้ระบบตั๋วร่วม โดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าเร่งผลักดันการนำระบบตั๋วร่วมบริการหรือบัตร EMV (Europay Mastercard and Visa) มาใช้ เพื่อแก้ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาแพงจากการเดินทางข้ามสายข้ามสี โดยได้มอบนโยบายให้กับหน่วยงานที่มีการจัดเก็บเงินค่าโดยสารหรือค่าผ่านทางให้ใช้ระบบ EMV หรือระบบใช้บัตรทดแทนเงินสด

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

“EMV ดีแต่ต้องใช้ให้ถูกประเภทโลจิสติกส์ ใช้กับ รฟม.ที่ดูแลรถไฟฟ้าในเมือง, บริษัทขนส่งหรือ บขส., รถไฟ เครื่องบิน เรือ ใช้ได้หมด แต่ที่ผ่านมาปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาแพง ติดขัดเรื่องของสัญญาสัมปทาน ดังนั้นกระทรวงจะเริ่มจากรถไฟฟ้าที่เราคอนโทรลได้ก่อน ให้นำร่องที่สายสีแดง สีม่วงทำไปก่อน ในอนาคตเวลาจะลงนามสัมปทานรถไฟฟ้าสายใหม่ต้องบังคับในสัญญาเลยว่าต้องทำตั๋วร่วม”

นำร่อง 3 รถไฟฟ้า มิ.ย.นี้

ด้านหน่วยงานหลัก “ปัญญา ชูพานิช” ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย เพิ่มเติมว่า ระบบตั๋วร่วมบริการหรือบัตร EMV การพัฒนาระบบตั๋วร่วมรถไฟฟ้านำร่อง 3 สายแรก ได้แก่ 1.สายฉลองรัชธรรมหรือสายสีม่วง 2.สายเฉลิมรัชมงคลหรือสายสีน้ำเงิน และ 3.รถไฟชานเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หรือสายสีแดง คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในเดือนมิถุนายน 2565 นี้

ล่าสุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งและทดลองระบบ ในบางสถานีระบบสามารถใช้ได้แล้ว ในอนาคตบัตร EMV จะค่อย ๆ ขยายไปสู่รถไฟฟ้าทุกสายในกรุงเทพฯ รวมไปถึงรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในขณะนี้ ซึ่งจะมีการพัฒนาตัวระบบให้สอดรับกันต่อไป

ขณะเดียวกันการต่อยอดระบบ EMV จะนำไปใช้ในระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และระบบเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า รวมถึงระบบทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รูปแบบเน้นไปที่การอำนวยความสะดวกในการใช้บริการ กล่าวคือ บัตรเดียวจ่ายค่าเดินทางได้ครอบคลุมทุกโหมดการเดินทาง

ถกส่วนแบ่งรายได้ค่าแรกเข้า

สิ่งที่ สนข.ต้องทำควบคู่กับการเปิดนำร่องทดลองใช้ระบบ EMV ก็คือเร่งดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2565 ปัจจุบันมีความคืบหน้า 80% จากนั้นคาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมจะเสนอกรมบัญชีกลางและคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเพื่อขอจัดตั้งกองทุน จากนั้นจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาตามขั้นตอน ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยคาดว่ากรอบเวลาในการผลักดันร่างกฎหมายใหม่นี้จะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในต้นปี 2566

สาระสำคัญมีองค์ประกอบหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นอัตราค่าโดยสารกลาง วิธีการจัดเก็บ ตลอดจนการบริหารจัดการ หาก พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …สำเร็จจะส่งผลดีในการดำเนินการระบบ EMV เนื่องจากมีกฎหมายมารองรับ และบังคับใช้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้

“ในอนาคตเมื่อระบบตั๋วร่วมบัตร EMV เชื่อมรถไฟฟ้าให้ถึงกันทุกสาย จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าปรับตัวลงมาอยู่ในราคาที่เหมาะสมในอัตราที่เทียบเท่ากัน สะท้อนระยะการเดินทางของประชาชนอย่างแท้จริง ขณะที่ค่าแรกเข้าจากรถไฟฟ้าแต่ละสายจะหายไป เหลือค่าแรกเข้าแค่ครั้งเดียว อยู่ระหว่างการหารือกับภาคเอกชนผู้รับสัมปทานในด้านการจัดแบ่งสัดส่วนรายได้จากค่าแรกเข้าเมื่อผู้โดยสารมีการนั่งรถไฟฟ้าข้ามสายมากกว่า 1 สายขึ้นไป”

ค่าโดยสาร

คืนความสุขให้กับผู้โดยสาร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจการเดินทางรถไฟฟ้าในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 7 สาย ได้แก่ สีเขียวอ่อน เขียวเข้ม น้ำเงิน ม่วง แดง ทอง แอร์พอร์ตเรลลิงก์ ขณะที่อีก 4 สาย ได้แก่ สีชมพู สีเหลือง สีส้ม และสีม่วงใต้ เตรียมเปิดให้บริการในปี 2565-2570 โดยผู้โดยสารต้องจ่ายค่าแรกเข้าทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนระบบ เฉลี่ยต่อสายอยู่ที่ 13-15 บาท

ในการเดินทางปกติ ทุกครั้งที่เปลี่ยนเส้นทางรถไฟฟ้าจะถูกคิดค่าแรกเข้าในอัตราค่าโดยสาร เช่น เดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) จากนั้นข้ามสายมานั่งรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ต้องจ่ายค่าแรกเข้า 2 ครั้ง

ดังนั้นหากมีการนำบัตร EMV เข้ามาใช้จะทำให้รถไฟฟ้าทุกสายรวมเป็นระบบเดียวกัน ผู้โดยสารคนเดียวกันแม้จะนั่งรถไฟฟ้ามากกว่า 1 สาย แต่สามารถจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว บวกกับค่าโดยสารตามระยะทางจริงเฉลี่ย 0.8-1.8 บาท/กม. (เทียบจากค่าเฉลี่ยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สีม่วง และสายสีแดง)

คำถามคือ กระทรวงคมนาคมนำระบบ EMV มาใช้แล้วค่าโดยสารจะถูกลงมากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่าง กรณีที่ 1 เดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อด้วยรถไฟฟ้าสีม่วง ระบบจ่ายเงินปกติมีค่าแรกเข้าสายสีน้ำเงิน 13-15 บาท + ค่าแรกเข้าสายสีม่วง 13-15 บาท + ค่าโดยสารตามระยะทางจริงสูงสุด 42 บาท รวม 68-72 บาท

กรณีที่ 2 เดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อด้วยรถไฟฟ้าสีม่วง ระบบบัตร EMV ค่าแรกเข้าจะถูกจัดเก็บเพียงครั้งเดียว หรือ 13-15 บาท + ค่าโดยสารตามระยะทางจริงสูงสุด 42 บาท รวมเป็น 55-59 บาท

สรุป ระบบ EMV เริ่มต้นจากการตัดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนค่าแรกเข้า และเป็นใบเบิกทางในการต่อยอดเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชนผู้โดยสารได้อีกมากในอนาคต