ส่องเซ็นทรัล ผุด 4 บิ๊กโปรเจ็กต์ 7.5 หมื่นล้าน ต่อจิ๊กซอว์ดีเวลอปเปอร์เต็มสูบ

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก CentralWorld

รีวิว 4 โปรเจ็กต์ “เซ็นทรัล” รวมมูลค่า 7.5 หมื่นล้าน มีทั้งมิกซ์ยูส-ศูนย์การค้า-โรงแรม เติมเต็มจิ๊กซอว์ธุรกิจพัฒนาที่ดินเต็มสูบ

วันที่ 23 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ยักษ์ศูนย์การค้าเบอร์ 1 ของไทย กำลังดำเนินการในหลาย ๆ โปรเจ็กต์ที่น่าจับตามอง

โดยล่าสุด มติชน รายงานว่า ทางเซ็นทรัลได้เริ่มออกแบบ และยื่นขออนุญาตก่อสร้างโครงการที่ไปเทกโอเวอร์บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ จีแลนด์ บริเวณ ถ.พระราม 9 แล้ว

โดยจะแบ่งการพัฒนาเป็นเฟส จะใช้เวลาพัฒนาประมาณ 5 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571 ซึ่งเมื่อต้นปี 2565 ก็ได้เริ่มเข้าไปเคลียร์พื้นที่บางส่วนแล้ว และเริ่มก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคภายในโครงการแล้ว เช่น ถนนขนาด 2 ช่องจราจร วางท่อระบายน้ำแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากยังจำกันได้ พื้นที่บริเวณนี้เคยบูมถึงขนาดเป็น New CBD (Central Business District) ของกรุงเทพฯ เลยทีเดียว

การเทกโอเวอร์ จีแลนด์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 โดยเซ็นทรัลส่ง บริษัท ซีพีเอ็น พัทยา จำกัด เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 50.43% หรือคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 10,162 ล้านบาท

ทั้งนี้ นอกจากโปรเจ็กต์บนถนนพระราม 9 เครือเซ็นทรัลยังมีบิ๊กโปรเจ็กต์อีกมากมายในมือที่น่าสนใจ “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปพบกับ 4 โปรเจ็กต์ วงเงินรวม 75,298 ล้านบาท ของเครือศูนย์การค้านัมเบอร์วันแห่งนี้

ตัวอย่างโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ภาพจากเว็บไซต์ dusitcentralpark.com

1. ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (Dusit Central Park) เดิมคือพื้นที่โรงแรมดุสิตธานีภายใต้บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ซึ่งซีพีเอ็นเข้ามาถือหุ้นในบริษัทนี้เป็นที่เรียบร้อย โดยปัจจุบันมูลค่าโครงการอยู่ที่ 46,000 ล้านบาทแล้ว

คอนเซ็ปของโครงการเป็นแบบ Fully- Integrated Mixed-Use Development บนพื้นที่ 23 ไร่ 2 งาน 2.72 ตารางวา อยู่ตรงหัวมุมถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี ในพื้นที่แปลงนี้ มี 4 โครงการสำคัญที่จะผุดขึ้น ประกอบด้วย

  • โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ มีห้องพัก 259 ห้อง ถือเป็นโครงการแฟลคชิพที่ออกแบบขึ้นใหม่บนแรงบันดาลใจของสถาปัตยกรรมและศิลปะจากยุคอดีต ด้วยความงดงามของบริการแบบไทยแท้ที่หลอมรวมเข้ากับเทคโนโลยีล้ำสมัย โรงแรมดุสิตธานีโฉมใหม่ จะมอบและสร้างสรรค์ประสบการณ์แสนประทับใจให้แก่ผู้มาเยี่ยมเยือนไปอีกยาวนาน
  • ดุสิต เรสซิเดนเซส มีจำนวนห้องทั้งสิ้น 406 ยูนิต  ประกอบไปด้วย ดุสิต เรสซิเดนเซส และดุสิต พาร์คไซด์
  • เซ็นทรัล พาร์ค ออกแบบให้เป็นศูนย์การค้า
  • เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส ซึ่งออกแบบให้เป็นอาคารสำนักงาน

มีกำหนดเปิดเฟสแรกในปลายปี  2566

ผังโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ภาพจาก dusitcentralpark.com/

2.Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ เดิมทีคือพื้นที่ของโรงภาพยนตร์สกาล่าในตำนาน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากกลุ่มเซ็นทรัลว่า พื้นที่ดังกล่าวจะพัฒนาเป็นอะไร หลังจากที่มีการรื้อย้ายโรงภาพยนตร์ออกไปแล้ว

ตามรายงาน มติชน เมื่อปลายปี 2564 เปิดเผยว่า รายละเอียดของโครงการ จะพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส จำนวน 1 อาคาร มีความสูงมากกว่า 20 ชั้น มูลค่าการลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาท

ประกอบด้วย โรงแรมรองรับนักธุรกิจ ศูนย์การค้า 4-5 ชั้น อาคารสำนักงานและที่จอดรถ ซึ่งเป็นการออกแบบใหม่ทั้งหมด ทำให้บริษัทต้องทุบโรงหนังสกาลาและอาคารพาณิชย์อีก 79 คูหา เพื่อเคลียร์พื้นที่ว่างและสร้างอาคารใหม่

ภาพการทยอยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง บริเวณใกล้กับโรงหนังสกาล่าเดิม ภาพจาก Youtube Channel: วีเอ็นพี มีเรื่องเล่า

3.เซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ทและวิลลา หัวหิน หรือ โรงแรมรถไฟหัวหินเดิม ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 72 ไร่ แม้สถานะปัจจุบัน บริษัท เซ็นทรัลหัวหินบีช รีสอร์ท จำกัด บริษัทในเครือจะเป็นผู้เช่ากับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยจ่ายค่าเช่าให้ ร.ฟ.ท. เดือนละ 9 ล้านบาท หรือปีละ 110 ล้านบาท

ที่ผ่านมา ที่ดินตรงนี้ ร.ฟ.ท. มีแนวคิดที่จะบอกเลิกสัญญาอยู่บ่อยครั้ง เพราะปัจจุบันเก็บค่าเช่าในมูลค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งเดิมก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เคยจะเอาที่ดินตรงนี้ไปศึกษาความเหมาะสมใหม่อีกครั้ง โดยประเมินคร่าว ๆ ว่า น่าจะมีมูลค่าโครงการไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท

แต่ปัจจุบัน ทาง ร.ฟ.ท. ได้ต่อสัญญาชั่วคราว เพื่อเยียวยาให้เซ็นทรัลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งแรก ซึ่งสัญญาเช่าที่ได้รับการต่อสัญญาชั่วคราวจะหมดลงในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ ต้องจับตากันต่อว่า กลุ่มเซ็นทรัลจะดำเนินการอย่างไรต่อกับที่ดินแปลงนี้

บรรยากาศในโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ทและวิลลา หัวหิน ภาพจากเว็บไซต์ centarahotelsresorts.com

4.เซ็นทรัล ลาดพร้าว ห้างสรรพสินค้าที่สร้างรายได้ให้เครือเซ็นทรัลมายาวนาน ซึ่งเช่าที่ดินกับ รฟท. เช่นกัน และเช่ามายาวนานตั้งแต่ปี 2521 แล้ว มีบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด เป็นผู้เช่าที่ดินบริเวณนั้นที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน” เนื้อที่รวม 47.22 ไร่

ซึ่งก่อนหน้านี้ ครบสัญญาเช่ารอบแรก 30 ปี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2551 จากนั้นได้เจรจาต่อสัญญาอีก 20 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2551-วันที่ 18 ธันวาคม 2571 โดย รฟท. ได้ผลตอบแทนคิดเป็นวงเงินรวมตลอดอายุสัญญา 21,298 ล้านบาท

และหากสิ้นสุดสัญญาในปี 2571 เงื่อนไขก็ไม่ได้ระบุว่า จะต้องเจรจากับเซ็นทรัล มีระบุแค่ว่าในช่วง 3 ปีก่อนหมดสัญญาจะต้องเตรียมส่งมอบอะไรให้ รฟท. บ้าง จะต่างจากครั้งแรกที่ระบุว่า จะต้องเจรจากับเซ็นทรัลเป็นรายแรก ซึ่งทาง รฟท. ก็เริ่มหาแนวทางการดำเนินการต่อหลังหมดสัญญาแล้ว เพราะเหลือเวลาอีก 6 ปีเท่านั้น

เซ็นทรัล ลาดพร้าวในปัจจุบัน ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Central Ladprao

นี่คือ 4 โครงการคร่าว ๆ เท่านั้นที่น่าจับตามองของเครือเซ็นทรัล เครือธุรกิจแห่งนี้ยังมีความเคลื่อนไหวอีกหลากหลายประการที่น่าจับตามองกันต่อไปแน่นอน