ม.เกษตรฯ เปิดผลวิจัยต้นเหตุปัญหาฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.

คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดผลงานวิชาการค้นหาต้นเหตุ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ และสาเหตุที่ทำให้เดือน ก.พ. พบฝุ่นจิ๋วสูง

วันที่ 25 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อ 16 มีนาคม 2565 คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา และหน่วยงานเครือข่าย จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ICELS 2022 (International conference on Environment, Livelihood and Services) นำเสนอผลงานวิชาการกรณีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร

ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพของประชาชน ซึ่งปัจจัย “อุตุนิยมวิทยา” ใกล้ผิวดินมีอิทธิพลต่อปริมาณและการกระจายของ PM 2.5 ในแนวระนาบและแนวดิ่ง และยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมี เกิดเป็นฝุ่นทุติยภูมิขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (secondary PM 2.5) ในบรรยากาศ

ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ

ดังนั้นการศึกษา PM 2.5 ตามระดับความสูง วิเคราะห์แหล่งกำเนิดของ PM 2.5 และกลไกการเกิด secondary PM 2.5 จึงสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและแนวทางการจัดการ เพื่อลดผลกระทบของปัญหา PM 2.5 ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โดยรูปแบบของฝุ่น PM 2.5 ที่พบในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 1) ฝุ่นหลังเที่ยงคืน 2) ฝุ่นจากการสะสมในช่วงเกิดอุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) 3) ฝุ่นที่เดินทางมาจากนอกกรุงเทพมหานคร และ 4) ฝุ่นทุติยภูมิ (ฝุ่นที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีหรือการเปลี่ยนรูปในบรรยากาศของก๊าซสารตั้งต้น)

นอกจากนี้พบว่า ในช่วงวิกฤตฝุ่น PM 2.5 พบว่าลักษณะอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดิน มีส่วนทำให้ความเข้มข้นฝุ่นสูงขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งลักษณะอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินดังกล่าวเกิดจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์บรรยากาศที่แตกต่างกัน

ทำไมเดือน ก.พ.ฝุ่น PM 2.5 เยอะ

ผศ.ดร.สุรัตน์กล่าวว่า จากการติดตามและตรวจวัดลักษณะอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและความเข้มข้นของ PM 2.5 จาก KU Tower พบว่าฝุ่นมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปแบบตามลักษณะของอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทีมวิจัยพบรูปแบบการเกิดฝุ่นทั้งหมด 6 รูปแบบ ได้แก่ Midnight particle patterns, Inversion particle patterns, Transboundary particle patterns, Photochemical particle patterns, Mixed particle patterns และ Unpattern

โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ รูปแบบฝุ่นที่มักจะพบ คือ Photochemical particle patterns เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มี “แสง” ที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศ อีกทั้งการตรวจวัดก๊าซในบรรยากาศ พบว่าก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และโอโซนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงระดับความเข้มข้นของ PM 2.5

จากปฏิกิริยาดังกล่าวส่งผลให้เกิดโอโซนและอนุภาคขนาดเล็กมีความเข้มข้นสูงขึ้น โดยสังเกตได้จากสัดส่วนระหว่าง PM 2.5/PM 10 มีมากกว่า 0.8 รวมไปถึงค่าความเข้มข้นของโอโซน องค์ประกอบทางเคมี สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าฝุ่นทุติยภูมิมีบทบาทที่สำคัญ

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลองค์ประกอบคาร์บอนและสารประกอบไอออนิกโดยวิเคราะห์เฉพาะช่วงฤดูฝุ่น (Haze period) ผลการทดลองจะแสดงให้เห็นชัดว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะมีความเข้มข้นองค์ประกอบทางเคมีค่อนข้างสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายปี คือ พบว่ามีค่าความเข้มข้น NO3- SO42-และ NH43- สูงกว่าค่าอื่น ซึ่งจะเป็นผลสอดคล้องกับหลาย ๆ การศึกษา จากนักวิจัยหลายท่าน ที่กล่าวว่าหากมีการพบ NO3- SO42- และ NH43- ใน PM 2.5 จะสามารถบ่งชี้ถึงฝุ่นทุติยภูมิได้

แหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.

ขณะที่พบว่าแหล่งกำเนิดที่สำคัญพื้นที่กรุงเทพมหานคร บริเวณใกล้ผิวดินที่ระดับความสูง 30 เมตร ได้แก่ รถยนต์ดีเซล (46%) การเผาไหม้ชีวมวล (22%) และฝุ่นทุติยภูมิ (14%) ตามลำดับ และเป็นที่น่าสังเกตว่าที่ระดับความสูง 75 และ 110 เมตร มีสัดส่วนของแหล่งกำเนิดทุติยภูมิมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นอิทธิพลจากการทำปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศนั่นเอง

สำหรับในช่วงที่เกิดหมอกควัน (ม.ค.-ก.พ.) เป็นที่น่าสนใจว่าที่ระดับความสูง 75 และ 110 เมตร มีแหล่งกำเนิดฝุ่นที่สำคัญจากหลายแหล่งคือ การเผาไหม้ชีวมวล ฝุ่นทุติยภูมิ และรถยนต์ดีเซล เนื่องจากในช่วงเวลาดังกว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับอิทธิพลจากแหล่งกำเนิดฝุ่นจิ๋วในพื้นที่ ร่วมกับการเคลื่อนที่ระยะไกลของฝุ่นนอกพื้นที่

ผศ.ดร.สุรัตน์กล่าวว่า ดังนั้นการทราบถึงพฤติกรรม และรูปแบบของฝุ่นในกรุงเทพมหานครได้ จะนำมาซึ่งแนวทางการแก้ไข และการจัดการปัญหาฝุ่นในกรุงเทพมหานครได้อย่างตรงจุด ตรงประเด็น และยั่งยืนต่อไปในอนาคต