“อานันท์” เปิดงานครบ 10 ปีการจากไป “นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” ผู้บุกเบิกสิทธิบัตรทอง

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน “งานกับอุดมคติของชีวิต” ในโอกาสครบ 10 ปี การจากไปของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และมอบรางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่นประจำปี 2560 โดยมีหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ และจิตอาสา ที่ได้รับคัดเลือกเพราะมีผลงานดีเด่นอย่างต่อเนื่องได้แก่ สถาบันโรคทรวงอก, น.ส.สุดา โภชนากรณ์ พยาบาลวิชาชีพ รพ.กระทุ่มแบน และนายเฉลิม สิริจันทเวท จิตอาสา รพ.พนมสารคาม ตามลำดับ งานนี้จัดโดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัด (กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) มีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหาร นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ประมาณ 300 คน วัตถุประสงค์เพื่อสานต่องานสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน และสนับสนุนงานจิตอาสา มิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน ตามปณิธานของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์

นายอานันท์กล่าวเปิดงานว่า คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ คือ “รัฐบุรุษ ผู้สร้างหลักประกันสุขภาพของไทย” เพราะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดจากคุณหมอสงวนได้ทุ่มเททั้งชีวิต ศึกษาวิจัย ออกแบบระบบ ผลักดันนโยบายอย่างมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ จนเกิดเป็นกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2545 ทำให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน และมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการเมื่อยามจำเป็น ครัวเรือนไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยรัฐบาลเป็นผู้ใช้เงินภาษีของประชาชน เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับคนไทยทุกคน ประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 พึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ส่งทีมงานเข้ามาเรียนรู้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทยอย่างมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีความท้าทายที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่คุณหมอสงวนได้วางรากฐานไว้แล้ว คือ เราจะสร้างความยั่งยืนให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้อย่างไรภายใต้การเปลี่ยนแปลงจากหลายปัจจัย เช่น สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่มีราคาแพงและอาจช่วยทำให้คนอายุยืนขึ้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันหาแนวทางเพื่อให้ประเทศสามารถจัดการกับความท้าทายดังกล่าวได้

“แนวทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาความท้าทายดังกล่าว คือ การนำแนวทางตามพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศ การเสริมสร้างความเข้มแข้งของบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ เช่น โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และคลินิกชุมชนอบอุ่นของเอกชน เป็นต้น และที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือการนำแนวคิดจิตอาสา มิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อนผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย คนเมื่อเจ็บป่วยย่อมต้องการคนที่เข้าใจ และต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตัวจากประสบการณ์จริงของเพื่อนคนไข้ด้วยกัน เพราะการมีเพื่อนที่มีประสบการณ์หรือประสบปัญหาเดียวกันช่วยเหลือกัน ให้ข้อมูลกัน เป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วย และครอบครัวสามารถยืนหยัดสู้กับโรคภัยได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งช่วงท้ายชีวิตของคุณหมอสงวน ได้พยายามพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งในระบบบริการสุขภาพของไทย” นายอานันท์กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์