ประวิตร สั่ง 8 มาตรการ เคลียร์รุกล้ำลำน้ำสาธารณะ

กทม. ร่วมประชุมหารือบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำนำสาธารณะ “ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะสั่งการ 8 ด้าน อาทิ เดินหน้าโครงการพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ สั่งการเจรจาประชาชน-ผู้ไม่ให้ความร่วมมือจ่อดำเนินการด้านกฎหมาย

วันที่ 26 มีนาคม 2565 นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ในการประชุมได้มีการติดตามผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ และติดตามความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรค ในการดำเนินการพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ

เบื้องต้นได้มีข้อสั่งการจากการประชุม ดังนี้

1.ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่คลองเปรมประชากรร่วมกับ กทม. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรมธนารักษ์ กองทัพบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเจรจาสร้างความเข้าใจกับผู้รุกล้ำที่ไม่ให้ความร่วมมือและต่อต้านโครงการอย่างต่อเนื่อง

2.ชุมชนที่มีการรื้อย้ายและเข้าดำเนินการในพื้นที่แล้ว แต่ยังมีผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือหรือมีการคัดค้านโครงการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเจรจาสร้างความเข้าใจ และพิจารณาการใช้มาตรการด้านกฎหมายควบคู่กัน เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า

3.ให้กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของพื้นที่เร่งดำเนินการส่งมอบพื้นที่และเร่งรัดการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

4.ให้ทุกหน่วยงานประสานงานกันอย่างใกล้ชิดโดยร่วมกันวางแผนงานให้มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน และให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้

5.ให้ประธานคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ทั้ง 4 ด้าน กำกับ ดูแล ติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานคณะอนุกรรมการฯ เพื่อสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานพัฒนาคลองและพื้นที่ริมคลองอย่างต่อเนื่อง

6.ให้คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกให้มีการรับรู้ข้อมูลโครงการในวงกว้าง และใช้ช่องทางสื่อประชาสัมพันธ์ที่มีอยู่ ได้แก่

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) ในการเผยแพร่ข้อมูลโครงการ รูปแบบโครงการ วีดีทัศน์ คลิปสั้นต่าง ๆ ที่ได้มีการจัดทำไว้แล้วเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลโครงการที่ถูกต้องและสื่อออกไปได้ในวงกว้าง

7.ให้ตั้งคณะทำงานเร่งรัดการแก้ไขปัญหาของคลองแสนแสบในครอบคลุมพื้นที่ทั้งสายคลอง (กรุงเทพมหานครและจังหวัดฉะเชิงเทรา)

8.เรื่องการบำบัดน้ำเสีย ให้มีการแก้ไขน้ำเสียจากต้นเหตุและรวบรวมน้ำเสียในทุกคลองเห็นควรทำการขุดลอกตะกอนและขยะขึ้นมาจากคลองก่อนดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในระยะถัดไป เช่น ในคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร เป็นต้น

โดยในส่วนของการดำเนินการที่ต้องใช้งบประมาณและมีข้อจำกัดของงบประมาณ ให้ท้องถิ่นพิจารณาการร่วมลงทุนแบบ PPP ของภาคเอกชน