เสฐียรพงษ์ วรรณปก นักวิชาการศาสนา เสียชีวิตแล้ว ส.ศิวรักษ์ ร่วมอาลัย

เสฐียรพงษ์ วรรณปก ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Narong Junior

สิ้น เสฐียรพงษ์ วรรณปก อดีตสามเณรที่สอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้เป็นรูปแรกในสมัยรัชกาลที่ 9 และนักวิชาการศาสนาในวัย 83 ปี “ส.ศิวรักษ์” ร่วมอาลัย

วันที่ 6 เมษายน 2565 มติชน รายงานว่า นายเสฐียรพงษ์ วรรณปก นักปรัชญาศาสนาและราชบัณฑิต ได้เสียชีวิตลงแล้ว ขณะเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเวลา 18.33 น. วันที่ 6 เมษายน เบื้องต้น ญาติแจ้งว่า สาเหตุหลักของการเสียชีวิตเนื่องจากอาการทรุดเพราะเส้นเลือดในช่องท้องกับตรงหัวใจที่ทำไว้แต่เดิมปริ ก่อนหน้านี้ ได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลธนบุรี ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม ก่อนที่จะย้ายมาที่โรงพยาบาลศิริราช วันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จะตั้งศพไว้ที่วัดตรีทศเทพ และจะสวดอภิธรรมเป็นเวลา 5 คืน และเก็บศพไว้ 100 วัน ก่อนพระราชเพลิง

ด้านนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ได้โพสต์เฟซบุ๊กผ่าน Sulak Sivaraksa ระบุว่า

[ แด่ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ]
.
เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นสามเณรประโยค 9 รูปแรกในรัชกาลที่ 9 และเป็นรูปแรกแต่เกิดการสอบแบบข้อเขียนแทนการสอบปากเปล่าดังแต่ก่อน เขาเป็นศิษย์ของพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) แห่งสำนักเรียนวัดทองนพคุณ
.
ต่อมาเสฐียรพงษ์ได้ทุนไปเรียนที่วิทยาลัยตรีนิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทั้งๆ ที่ยังบวชอยู่ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพระไทยรูปแรกที่จบจากที่นั่น เสียดายที่กลับมาไม่ทันไร เขาก็สึก
.
เขาถนัดเป็นนักหนังสือพิมพ์มากกว่าเป็นครูบาอาจารย์ ทั้งที่เขาเคยอยู่มหาวิทยาลัย เดิมเขาเขียนให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ต่อมาเมื่อไทยรัฐไม่เล่นงานธรรมกาย เขาจึงย้ายมาอยู่กับมติชน และมีผลงานรวมเล่มมากมาย ทั้งกับสำนักพิมพ์มติชน และกับทางเคล็ดไทย ภาษาไทยเขาดี หนังสือที่มีชื่อเสียงก็เป็นหนังสือตั้งชื่อ ที่เขาสามารถตั้งชื่อคนเพราะ ๆ
.
ผมกับเขาเป็นกัลยาณมิตรกันมายาวนาน เมื่อเขาตายจากไป ก็หวังว่าเขาจะไปสู่สุคติในสัมปรายภพ
.
ส. ศิวรักษ์
6-4-65
————-
ภาพ : ส.ศ.ษ. – เสฐียรพงษ์ วรรณปก เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2557 ในวันคล้ายวันมรณภาพของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (กี) วัดทองนพคุณ

สำหรับประวัติโดยสังเขป เกิดเมื่อวันที่  1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 ที่บ้านโนนสูง ตำบลเลิงแฝก (ปัจจุบันคือ ตำบลหนองแวง) อำเภอบรบือ (ปัจจุบันคืออำเภอกุดรัง) จังหวัดมหาสารคาม

สำเร็จการศึกษา เปรียญธรรม 9 ประโยคขณะเป็นสามเณร และเป็นสามเณรนาคหลวงรูปแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สังกัดวัดทองนพคุณ เมื่อปี 2503 ก่อนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาอักษรศาสตร์ และปริญญาโท สาขาภาษาตะวันออกโบราณ (บาลี-สันสกฤต) ซึ่งทั้ง 2 ระดับได้เกียรตินิยม  ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยมหิดล และลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2535 ผลงานประพันธ์ ได้เขียนบทความลงในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์เมื่อครั้งเป็นภิกษุ โดยการชักชวนของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ภายหลังได้เขียนบทความลงในนิตยสารต่าง ๆ เช่น ต่วยตูน, แม่และเด็ก, รักลูก, ชีวจิต เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์มติชน มีผลงานที่พิมพ์เป็นเล่มประมาณ 200 เล่ม