อัพเดต “รถไฟฟ้าศักดิ์สยาม” สปีด รฟม. 7 สาย-ลงทุน 4 จังหวัดหลัก

ที่ดิน รถไฟฟ้า

เข้ารับตำแหน่งเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน (16 เมษายน 2565) “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นั่งบริหารราชการแผ่นดินบนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่ต่ำกว่า 2 ปีครึ่ง หนึ่งในผลงานเด่นเป็นเรื่องการเร่งรัดผลักดันการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวมถึงได้ริเริ่มพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลักภูมิภาค

โดยมี “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” เป็นหัวหอกหลักในการขับเคลื่อนการลงทุนรถไฟฟ้าในเขตเมือง มีโครงข่ายรถไฟฟ้า 7 เส้นทาง “สีน้ำเงิน-ม่วง-เขียวเข้ม-ส้ม-ชมพู-เหลือง-น้ำตาล” ระยะทางรวม 278 กิโลเมตร

ในขณะที่ปี 2565 จ่อปิดจ็อบเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

โควิดปี’63 ครม.อนุมัติสีส้มตะวันตก

สำหรับรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เริ่มนับผลงานตั้งแต่ปี 2562 โดยอีเวนต์ใหญ่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 มีการเปิดให้บริการเป็นทางการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค (จากการวิเคราะห์เต็มโครงการช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 16.83

ถัดมาปี 2563 มีอีเวนต์ใหญ่ 2 เรื่อง เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP Net Cost) โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนการก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และเป็นผู้จัดหา ผลิต ติดตั้ง งานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถ รวมถึงให้บริการเดินรถตลอดทั้งเส้นทาง

โครงการรถไฟฟ้าสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี มีมูลค่าการลงทุนรวม 235,320 ล้านบาท ประเมิน EIRR ร้อยละ 19.06 แบ่งเป็น “สีส้มตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี” วงเงิน 106,806 ล้านบาท กับ “สีส้มตะวันตก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ” วงเงินลงทุน 122,067 ล้านบาท

และวันที่ 30 มีนาคม 2563 มีการเปิดให้บริการเป็นทางการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ และมีผลให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินวิ่งให้บริการครบลูปเป็นวงกลมสายแรกของประเทศไทย

โควิดปี’64 ต่อขยายสีชมพู เมืองทองฯ

ในปี 2564 อีเวนต์หลักเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ฉบับแก้ไข กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระหว่าง รฟม.และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM)

ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ส่วนหลัก) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี มีมูลค่าการลงทุน 4,072 ล้านบาท เอกชนผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด ประเมิน EIRR ที่ร้อยละ 13.50

อัพเดตล่าสุด โครงการอยู่ในขั้นตอนการออก พ.ร.ฎ.เวนคืนเพื่อจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ปีเสือเคาะสีม่วงใต้-ส้มตะวันตกเข้าคิว

ขณะที่สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีวงเงินลงทุน 124,955 ล้านบาท อัพเดตล่าสุดปี 2565 โหมโรงกันตั้งแต่ต้นปีเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ด้วยอีเวนต์ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รวมทั้งสิ้น 6 สัญญา มูลค่าโครงการรวม 82,082.8 ล้านบาท ประเมิน EIRR อยู่ที่ร้อยละ 13.63

ตามแผนลงทุนคาดว่าเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2565 นี้ และในลำดับต่อไปจะได้ดำเนินการจัดทำและนำเสนอรายงาน PPP ต่อ ครม. เพื่อขออนุมัติรูปแบบการร่วมลงทุนของโครงการในส่วนงานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถ การเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาต่อไป

ไฮไลต์อีก 1 เส้นทางคืองานโยธา สายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนเป็น package เดียวกับการติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถของสายสีส้มตลอดทั้งสาย ตามแผนคือจะเคาะประมูลภายในปีนี้ และคาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในสิ้นปี 2565

สีชมพู-เหลืองซอฟต์โอเพนนิ่ง

ขณะเดียวกันมีการเร่งรัดผลักดันรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565) มีความคืบหน้าดังนี้

“รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี” (สุวินทวงศ์) โครงการเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ปัจจุบันมีความก้าวหน้าร้อยละ 91.67 ในอนาคตอันใกล้เมื่อโครงการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว คาดว่าสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 19.06 (EIRR ของสายสีส้มทั้งส้มตะวันออกและส้มตะวันตก)

“รถไฟฟ้าสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี” โครงการเริ่มก่อสร้าง 29 มิถุนายน 2561 ปัจจุบันมีความก้าวหน้าร้อยละ 85.33 ประเมิน EIRR ที่ร้อยละ 17.20

และ “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง” โครงการเริ่มก่อสร้างพร้อมกับสายสีชมพูเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ปัจจุบันมีความก้าวหน้าร้อยละ 90.87 ประเมิน EIRR อยู่ที่ร้อยละ 15.65

โดยรถไฟฟ้าสีชมพู-เหลืองมีแผนเปิดให้บริการเดินรถบางส่วน (partial operation) ภายในสิ้นปี 2565 ทั้งสองสาย และเปิดให้บริการเป็นทางการตลอดทั้งเส้นทางได้ภายในปี 2566

ปูทางอนาคต “สีน้ำตาล แคราย-บึงกุ่ม”

แผนงานในอนาคตสำหรับเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลก็คือ “รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม)” มูลค่าลงทุนรวม 48,478 ล้านบาท ประเมิน EIRR ร้อยละ 22.39

อัพเดตล่าสุด โครงการนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาเพื่อศึกษาทบทวนปรับปรุงรายละเอียด และจัดทำรายงาน PPP คาดว่าจะเริ่มการศึกษาได้ภายในปี 2565

ลุยภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช-พิษณุโลก

นอกจากนี้ “ศักดิ์สยาม” ยังได้เร่งรัด รฟม.ให้ดําเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลักภูมิภาค เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจร ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ และอํานวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว

อัพเดตล่าสุด รฟม.มีแผนลงทุนรถไฟฟ้าในเมืองหลักภูมิภาค 4 จังหวัด ประกอบด้วย 1.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 54 กิโลเมตร ลงทุน 35,295 ล้านบาท

2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี เชียงใหม่ ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร ลงทุน 25,639 ล้านบาท

3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ นครราชสีมา ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร ลงทุน 7,116 ล้านบาท

ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ รฟม.อยู่ระหว่างเร่งรัดศึกษาโครงการเพิ่มเติม และปรับปรุงรายงาน PPP รวมทั้งทบทวนเทคโนโลยีรถไฟฟ้าเพื่อลดต้นทุนโครงการ

4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร ประเมินเงินลงทุน 1,672 ล้านบาท ซึ่ง รฟม.อยู่ระหว่างเตรียมจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษารายละเอียด ความเหมาะสม ออกแบบโครงการ ก่อนดําเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป