15 แกนนำค้านโรงไฟฟ้าเทพารายงานตัวครั้งที่ 2 คนแห่ให้กำลังใจล้น 114 นักวิชาการพร้อมเป็นนายประกัน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 ธันวาคม ชาวบ้านในเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเป็นกำลังใจให้กับการรายงานตัวต่อศาลจังหวัดสงขลา ครั้งที่ 2 ในเช้าวันนี้ ของแกนนำ 15 คน ที่ถูกจับกุมระหว่างการสลายการชุมนุมในการทำกิจกรรม ”เดินเทใจให้เทพา เดินหานายกฯหยุดทำลายชุมชน” เหตุเกิดเมื่อ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยผู้ต้องหาในคดีนี้ทั้ง 15 คนมารายงานครบทั้งหมด มีตัวแทนชาวบ้านในมาให้กำลัง ก่อนที่จะเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ของศาลจังหวัดสงขลาเพื่อรายงานตัว ได้ร่วมกันถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ถือแผ่นป้ายขนาดใหญ่ หยุดการพัฒนาหยุดทำลายชุมชน และไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน บริเวณริมถนนหน้าศาลจังหวัดสงขลา ก่อนจะร่วมกันร้องเพลงชาติไทย และเข้ารายงานตัวต่อศาล ตามกำหนด โดยในกรณีนี้นั้นมีผู้ถูกจับกุมจำนวน 16 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 1 คน ซึ่งถูกแยกดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา

ขณะที่นักวิชาการ 114 คนได้ร่วมกันลงชื่อและออกแถลงการณ์ในนามเครือข่ายนักวิชาการยืนเคียงข้างประชาชนเพื่อหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา “นายประกัน” ให้แก่การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนของพี่น้องประชาชนชาวเทพา ยืนยันที่จะพยายามช่วยเหลือประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกรณีพี่น้องประชาชนชาวเทพา ด้วยการรวบรวมรายชื่อนักวิชาการเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยเป็น “นายประกัน” ให้ประชาชนมีขวัญและกำลังใจในการปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

สืบเนื่องจากการสลายการชุมนุม ที่ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมเพื่อดำเนินคดีทั้งหมด 16 คน (เป็นเยาวชน 1 คน) โดยทั้งหมดถูกควบคุมตัวที่ สภ.เมืองสงขลา เป็นเวลา 1 คืน และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำจังหวัดสงขลาอีก 1 คืน ก่อนที่กลุ่มนักวิชาการจากหลายสถาบันขอใช้ตำแหน่งเพื่อการประกันตัว และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ทั้ง 15 คนได้ไปรายงานตัวต่อศาลจังหวัดสงขลานัดแรกและศาลได้นัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันนี้ (ที่ 22 ธันวาคม 2560)

ทั้งนี้เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยนายเอกชัย อิสระทะ ผู้แจ้ง และจัดการชุมนุมสาธารณะได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดสงขลาที่มีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ว่า “การชุมนุมสาธารณะของเครือข่ายฯ เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เลิกการชุมนุม” เพื่อยืนยันว่าการชุมนุมของเครือข่ายฯ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.การชุมนุมแล้ว โดยมีประเด็นในการอุทธรณ์ดังนี้ 1.กระบวนการไต่สวนคำร้องขอให้ศาลสั่งให้เลิกการชุมนุมสาธารณะไม่มีการแจ้งคำสั่งเรียกไต่สวนให้ทราบโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่มีโอกาสในการโต้แย้งสิทธิก่อนศาลชั้นต้นออกคำสั่ง 2.การชุมนุมของเครือข่ายฯ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว 3.คำสั่งไม่อนุญาตให้ผ่อนผันการแจ้งการชุมนุมสาธารณะนั้น ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา มีอำนาจเพียงการสั่งไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมเดินขบวนก่อนการแจ้งการชุมนุมสาธารณะล่วงหน้าครบ 24ชั่วโมงเท่านั้น แต่ไม่อาจสั่งห้ามการชุมนุมสาธารณะที่มิได้มีลักษณะขัดต่อเงื่อนไขกฎหมายได้

นายเอกชัยระบุว่า การยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดสงขลาในครั้งนี้เพื่อยืนยันว่ากิจกรรมการเดินเท้าเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน นั้น เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาโดยตลอด รวมถึงตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ทั้งนี้เพราะเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้คนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในนโยบายต่างๆของรัฐโดยการให้ความเห็น ให้ข้อมูล วิพากษ์วิจารณ์ คัดค้านหรือสนับสนุนในประเด็นต่างๆ ซึ่งเสรีภาพในการชุมนุมยังเป็นเสรีภาพที่ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มมีพื้นที่อย่างเท่าเทียมในการเรียกร้องเพื่อเข้าถึงสิทธิอื่นๆ อันพึงมีพึงได้ อาทิเช่น สิทธิชุมชน สิทธิในความเป็นอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เสรีภาพในการชุมนุมจึงถือเป็นเสรีภาพอันสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์