“ศักดิ์สยาม” ปั้นฮับเรือสำราญ นำร่องท่าเรือเกาะสมุย 1.2 หมื่นล้าน

เรือสำราญ
แฟ้มภาพ

ไทยเป็น destination เรือสำราญแวะสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศในช่วง 10 ปีของยุคก่อนโควิด (2554-2562)

แต่ยังไม่มีท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่แต่อย่างใด โดยมีแผนบนกระดาษที่เขียนไว้ว่าประเทศไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเรือสำราญเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ 10 ปี (2561-2570) เป้าหมายยกระดับประเทศไทยเป็น Maritime Hub ในภูมิภาค

ในขณะที่เทรนด์หลังยุคโควิด เศรษฐกิจการท่องเที่ยวคาดการณ์ว่าจะมีการฟื้นตัวขนานใหญ่ ล่าสุด “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายผลักดันการลงทุนก่อสร้างท่าเรือสำราญ เพื่อรองรับการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในยุคหลังโควิด โดยได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ทั้งนี้ สอดรับกับนโยบายกระทรวงคมนาคมที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำ เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมในภูมิภาค และขยายขีดการแข่งขันของประเทศ

ตีปี๊บ Cruise Terminal สมุย

“วรรณชัย บุตรทองดี” ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่มเติมว่า ความคืบหน้าในเรื่องนี้ กรมเจ้าท่าได้ขับเคลื่อนภารกิจภายใต้โครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (cruise terminal) เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้จัดสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจนักลงทุนภาคเอกชน (market sounding) เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2565

ขั้นตอนหลังจากนี้ จะจัดทำรายงานนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา และเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จากนั้นเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป โดยไทม์ไลน์คาดว่านำเสนอ ครม.ได้ในปี 2566 เปิดประกวดราคาในปี 2567 เริ่มก่อสร้างในปี 2568 และเปิดบริการในปี 2571

“โครงการ Cruise Terminal เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP net cost วงเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายตลอดโครงการ 12,146 ล้านบาท โดยรัฐร่วมลงทุนในสัดส่วน 53.8% วงเงิน 6,533 ล้านบาท อาทิ ค่าเวนคืนที่ดิน ค่างานก่อสร้างโยธา และค่างานระบบภายในอาคารทั้งหมด เอกชนลงทุนสัดส่วน 46.2% จำนวน 5,613 ล้านบาท อาทิ อุปกรณ์และส่วนควบ การดำเนินงาน และบำรุงรักษาท่าเรือ สัมปทาน 30 ปี”

เรือแวะไทยสูงสุดในอาเซียน

สำหรับภาพรวมธุรกิจเดินเรือสำราญทั่วโลกพบว่า ในช่วง 10 ปี (2554-2563) มีจำนวนนักท่องเที่ยวเรือสำราญทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.3% รายละเอียดดังนี้ ปี 2554 มีจำนวน 20.50 ล้านคน ปี 2557 เพิ่มเป็น 22.34 ล้านคน ปี 2560 เพิ่มเป็น 26.70 ล้านคน และปี 2562 ขยับสูงขึ้นเป็น 30 ล้านคน

ในขณะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน destination การท่องเที่ยวเรือสำราญของโลก สถิติไทยเป็นประเทศที่มีอัตราเติบโตของจำนวนครั้งที่เรือสำราญเทียบท่าสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยช่วงปี 2554-2562 มีการเติบโตจำนวนครั้งที่เรือสำราญเทียบท่าสูงสุด 87.7% สถิติปี 2562 มีการเทียบท่าสูงถึง 550 ครั้ง และมีการเทียบท่าที่เกาะสมุย 59 ครั้ง สูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากท่าเรือภูเก็ต กับท่าเรือแหลมฉบัง

ในอนาคตเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่ามีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการ Cruise Terminal ในปี 2571 เกือบ 2 แสนคน ปี 2580 เพิ่มเป็น 3 แสนคน ปี 2590 เกือบ 4 แสนคน และปี 2600 ปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 5 แสนคน

ในด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับตลอดอายุโครงการ คำนวณไว้ที่ 32,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นธุรกิจบริการท่องเที่ยวในบริเวณเมือง (shore excursion) 25% ธุรกิจจำหน่ายสินค้าที่ระลึก 23% ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 20% ธุรกิจสันทนาการต่าง ๆ 14% ธุรกิจคมนาคมขนส่ง 12% และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ 6%

“ประเทศไทยมีชายหาดที่สวยงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกใฝ่ฝันถึงและอยากจะมาเยือนสักครั้งในชีวิต แต่ปัจจุบันเรือสำราญขนาดใหญ่ไม่สามารถเทียบท่าเรือได้โดยตรง ต้องอาศัยเรือเล็กในการรับ-ส่งนักท่องเที่ยว โครงการ Cruise Terminal จึงเป็นการยกระดับการบริการนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติโดยตรง”

แผนที่ท่าเรือ

ร่วมทุน PPP 1.2 หมื่นล้าน

รายละเอียดโครงการ Cruise Terminal มูลค่าร่วมลงทุน 12,146 ล้านบาท ออกแบบให้มีความสามารถในการรองรับท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ความจุ 4,000 คน/ลำ เรือสำราญขนาดกลางความจุ 2,500 คน ท่าเรือมีความยาวหน้าท่า 362 เมตร ความลึกร่องน้ำ 12 เมตร อาคารผู้โดยสารจุ 3,600 คน

โดยมี 7 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 1.“อาคารผู้โดยสาร” พื้นที่ 7,200 ตารางเมตรขึ้นไป รองรับปริมาณผู้โดยสาร 1,200 คน/ชั่วโมง แบ่งเป็นผู้โดยสารเรือสำราญกีฬา (เรือยอชต์) กับผู้โดยสารท่องเที่ยวในประเทศ (เรือเฟอรี่) มีห้องประชุม ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ฯลฯ

2.“สะพาน” มีความกว้าง 40 เมตร ความยาว 445 เมตร ก่อสร้างเป็นสะพานขึง สร้างเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารกับพื้นที่หลังท่า

3.“ท่าเรือเฟอรี่” ให้บริการผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไป-กลับระหว่าง จ.สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช จอดได้สูงสุด 6 ลำ และท่าเรือยอชต์รองรับการจอดรถเรือได้ 80 ลำ 4.“อาคารบริการ” ออกแบบให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกรมเจ้าท่า รองรับกิจกรรม 3 ท่าเรือ คือ ท่าเทียบเรือสำราญ ท่าเรือเฟอรี่ และท่าเรือยอชต์

5.สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ท่าเรือที่เกี่ยวข้อง เช่น เรือลากจูง สะพานลงเรือ รถยกเครื่องสแกนสัมภาระ เครื่องตรวจจับโลหะแบบเดินผ่าน 6.ค่าดำเนินการ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายบุคลากร การตลาด ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม และ 7.ค่าบำรุงรักษา อาทิ ค่าบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน-ระบบสาธารณูปโภค และค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ประกอบการดำเนินการ