ขาย “เหล้า-เบียร์” เดลิเวอรีไม่ผิดกม. เครือข่ายงดเหล้าจับตาหากโฆษณา-ส่งเสริมการตลาดเสี่ยงผิดแน่

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวถึงการขายเบียร์ ไวน์ แบบเดลิเวอรี หรือส่งตรงถึงบ้านให้แก่ผู้ดื่ม ซึ่งมีการเผยแพร่โฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ว่าการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยการส่งตรงถึงบ้านหรือแบบเดลิเวอรีนั้นไม่ผิดกฎหมายหรือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เนื่องจากไม่มีการกำหนดห้ามขายด้วยวิธีนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องพิจารณาดูว่ามีการกระทำผิดกฎหมายลักษณะอื่นหรือไม่ เนื่องจากการขายลักษณะนี้จะเป็นการขายผ่านอินเทอร์เน็ต หรือการโทรศัพท์สั่งซื้อขาย ซึ่งต้องมาพิจารณาดูว่าผู้ขายนั้นมีใบอนุญาตอนุญาตขายสุราหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีก็ถือว่าผิดกฎหมายของกรมสรรพาสามิต

“การขายแบบเดลิเวอรีส่วนใหญ่เป็นลักษณะทางออนไลน์หรือโทรศัพท์สั่งซื้อ ทำให้สามารถซื้อขายเวลาใดก็ได้ และไม่สามารถตรวจสอบอายุผู้ซื้อได้ ซึ่งมีความเสี่ยงในการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 คือ การขายนอกเวลากำหนดที่ให้ขายได้คือ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. การขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และการโฆษณา ส่งเสริมการตลาด เนื่องจากการขายผ่านออนไลน์มักจะมีการโฆษณาเชิญชวนและจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ทั้งนี้ เข้าใจได้ว่าสินค้าทุกอย่างเริ่มมีการขายทางออนไลน์มากขึ้น แต่สินค้าประเภทเครื่องดื่มมึนเมา ซึ่งเป็นสินค้าที่ควรควบคุมการเข้าถึง แม้การขายออนไลน์จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายมีห้ามอย่างอื่น เพราะทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ส่วนใหญ่ก็อยู่บนโลกออนไลน์ ทำให้ไม่สามารถคัดกรองผู้ซื้อได้ การสั่งซื้อขายได้ตลอดเวลา และมีการโฆษณาลดแลกแจกแถม” ภก.สงกรานต์ กล่าว

ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ทางเครือข่ายและทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็พอทราบดีว่ามีจำนวนมากขึ้น แต่ยังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลและสถิติอยู่ว่า ส่งผลกระทบให้เกิดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นหรือไม่ และก็คงจับตาการเฝ้าระวังการกระทำความผิดเช่นกัน ซึ่งหากมีการกระทำความผิดก็จะมีการส่งเรื่องให้ตรวจสอบอยู่แล้ว ส่วนที่มีการส่งเป็นเครื่องกดเบียร์มาถึงบ้าน เพื่อให้กดดื่มตามจำนวนลิตรที่สั่งนั้น ก็ไม่เข้าข่ายลักษณะการขายผ่านเครื่องกดอัตโนมัติ เนื่องจากเป็นการซื้อกับผู้ขาย แล้วนำเครื่องกดมาให้กดดื่มได้เลย อย่างไรก็ตาม หากพบว่าการขายผ่านออนไลน์และขายแบบเดลิเวอรีมีปัญหามาก เพิ่มการเข้าถึงของการดื่ม และมีการกระทำผิดกฎหมายมาก ก็อาจพิจารณาออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ในการกำหนดเป็นวิธีห้ามขายก็สามารถทำได้

“ประเทศที่พัฒนาแล้วจะจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมาก เช่น มีการจะกัดจำนวนร้านต่อคนต่อพื้นที่นั้นๆ ว่ามีจำนวนได้เท่าไร หรือบางประเทศห้ามมีการขายในร้านสะดวกซื้อ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ร้านสะดวกซื้อก็ไม่มีการขายของมึนเมาเลย เพราะเขามองว่าทำให้เกิดการเข้าถึงที่ง่ายจนเกินไป” ภก.สงกรานต์ กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์