โพสต์รูป คู่เครื่องดื่มเมา ผิด-ถูก ดูที่ “เจตนา”

กลายเป็นประเด็นขึ้นอีกครั้ง กรณีการโพสต์ภาพตนเองคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงในสังคมออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมของบรรดาเหล่าเซเลบคนดัง ทั้งดารานักแสดง ศิลปินนักร้อง หรือแม้กระทั่งเน็ตไอดอล โดยมีการระบุว่าหากมีการโพสต์ลักษณะนี้อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย!!

งานนี้เกิดคำถามขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในผู้เล่นโซเชียลมีเดียทั้งหลายว่า แล้วจะทราบได้อย่างไรว่า การโพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบใดไม่สุ่มเสี่ยง และใครเข้าข่ายต้องระวังมากที่สุด

นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า หากเป็นบุคคลทั่วไป ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงไม่ถือว่าผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

ทั้งนี้ ในมาตรา 32 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ดังนั้น ในกรณีคนดังจึงเข้าข่าย เนื่องจากคนดัง ดารา นักร้องนักแสดง พวกเซเลบ หรือเน็ตไอดอลต่างๆ นั้น ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่มีประชาชนติดตาม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่น

เคยมีการศึกษาหลายครั้งว่า เด็กและวัยรุ่นนิยมชมชอบดาราศิลปินที่ตนเองชื่นชอบ และมีโอกาสเกิดการเลียนแบบได้ แม้กระทั่งเน็ตไอดอลที่มีคนติดตามเยอะๆ เป็นหมื่นๆ คน หากพบว่ามีการโพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะเข้าข่ายต้องถูกเรียกมาสอบถามหาข้อเท็จจริง

แต่เข้าข่ายก็ใช่ว่าจะผิดทั้งหมด

นพ.สุเทพระบุว่า ดาราคนดัง หรือเน็ตไอดอลโพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วจะผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯทั้งหมด ก็ไม่ใช่ เพียงแต่ก็ต้องเข้ามารับการสอบถาม ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะทั้งหมดต้องคำนึงถึงเจตนาว่า จริงๆ แล้วมีเจตนาจะโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่อย่างไร หากไม่มีก็ไม่ผิด แต่ก็ต้องมีการพิจารณาก่อน

ส่วนประชาชนทั่วไป ไม่ได้เป็นผู้ถูกจ้างให้ทำการโฆษณาก็ถือว่าไม่ผิด

ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องกังวล

แต่ก็ยังเกิดคำถามว่า แล้วถ้าประชาชนมีการแชร์ภาพคนดังๆ โพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโซเชียล แม้จะเป็นภาพเก่าถือว่าผิดหรือไม่ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำว่า ก็ต้องกลับไปดูเจตนาอยู่ดี

สิ่งเหล่านี้จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวน แต่ทั้งหมดขอย้ำว่า ไม่ได้มุ่งจับผิดคนดัง เพียงแต่อย่าลืมว่า การโฆษณาผ่านบุคคลสาธารณะ ถือเป็นกลยุทธ์การตลาดอย่างหนึ่ง อาจเป็นทั้งทางตรงทางอ้อม เป็นได้หมด

ดังนั้น ก็ต้องอยู่ที่เจตนาว่า มีการโฆษณาทางตรงหรือทางอ้อม หากไม่มี กลุ่มดารานักแสดง คนดังต่างๆ ที่มีการโพสต์ก็สบายใจได้ เพราะการมีกฎหมายลักษณะนี้ก็เพื่อป้องกันการโฆษณามากเกินไป และป้องกันเด็กๆ และเยาวชนเข้าสู่วงโคจรนักดื่ม หลายคนดื่มจนติดจนเกิดปัญหาทางสังคม

อย่าลืมว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดเป็นยาเสพติดถูกกฎหมายอย่างหนึ่ง จึงจำเป็นต้องป้องกันให้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากยังจำกันได้ ประเด็นเรื่องการเอาผิดดารานักแสดงคนดังต่างๆ ในการโพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เกิดขึ้นในสมัย นพ.สมาน ฟูตระกูล ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการจับกุมจนเป็นข่าวโด่งดังขึ้นประมาณปี 2558 โดยมีการดำเนินการเอาผิดตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 แบ่งออกเป็น 2 กรณี

กรณีที่ 1 คือ มีความชัดเจนของการโฆษณา ทำให้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเพื่อประโยชน์ทางการค้าก็ถือว่าผิด

กรณีที่ 2 หากมีการแย้งว่าไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่อาจเข้าข่ายการอวดอ้างสรรพคุณ และมีพฤติกรรมร่วมโดยการชักจูงให้ดื่มโดยทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ใช้ภาพดารา นักร้อง นักแสดง นักกีฬา มาชักจูง เพราะคนกลุ่มนี้เป็นเหมือนแม่เหล็ก แค่โพสต์ภาพก็ทำให้คนเลียนแบบ รวมไปถึงการมีข้อความจูงใจดื่มแล้วดี หรืออะไรก็ตาม ทั้งหมดเข้าข่ายผิดมาตรา 32

ในขณะนั้น นพ.สมานได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบมีดาราเข้าข่ายประมาณ 30 คน โดยพบว่า ขณะนั้นมีดารากลุ่มหนึ่งอยู่ในแคมเปญของธุรกิจเหล้ายี่ห้อหนึ่ง ออกมาจัดกิจกรรมให้ประชาชนถ่ายรูปลงกับอินสตาแกรม หากใครชนะก็จะได้ถ่ายรูปคู่กับดาราในกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับความผิดตามมาตรา 32 จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในกลุ่มบุคคลทั่วไปอาจปรับได้ตั้งแต่ 2 แสนบาท 3 แสนบาท หรือ 5 แสนบาท แต่หากเป็นธุรกิจเหล้าจะมีโทษปรับสูงสุด 5 แสนบาท ส่วนจำคุกมักเป็นรอลงอาญา

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้ออกอินโฟกราฟิกถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้ ดังนี้ การโฆษณาที่ทำได้ไม่ผิดกฎหมาย 1.โฆษณาตามที่กฎหมายกำหนด 2.ให้ข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคมและไม่แสดงภาพสินค้า 3.โฆษณาที่ถ่ายทอดสดจากต่างประเทศ เช่น ถ่ายทอดสดฟุตบอลที่เห็นสัญลักษณ์สินค้า

สำหรับห้ามโฆษณามี 1.อวดอ้างสรรพคุณ 2.ใช้เซเลบดารา นักกีฬาหรือเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ที่เป็นผู้โฆษณา 3.แสดงภาพสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.ชักจูงเชิญชวนให้ซื้อ 5.ให้รางวัล ของแถม ชิงโชค 6.ใช้ภาพการ์ตูน และ 7.โฆษณาเกินเวลา 22.00-05.00 น. หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษ ม.32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละไม่เกิน 5 หมื่นบาท จนกว่าจะทำให้ถูกต้อง

หลังจาก นพ.สมานถูกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค (คร.) สปอตไลต์ได้ฉายมาที่ นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวชŽ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คนใหม่ทันทีว่าจะมีการสานต่อเรื่องนี้อย่างไร

กระทั่งไม่กี่วันจึงปรากฏเป็นข่าวความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในการออกมาดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยนพ.นิพนธ์บอกว่า ตามที่มีการเปิดเผยรายชื่อศิลปินไปก่อนหน้านี้ เป็นคดีเดิมที่ต่อเนื่องมาจากกรณีที่เป็นข่าวในช่วงก่อนหน้านี้ แต่คดียังไม่เสร็จ ตอนนี้ก็รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ แล้วจึงส่งเรื่องไปให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม ก่อนดำเนินการในชั้นศาลต่อไป

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะอยู่ในฐานะพยาน และดำเนินการตรวจสอบเคสอื่นๆ ต่อไป เพราะตอนนี้พบพฤติกรรมการโฆษณาแฝงของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่เยอะ

อย่างเรื่องของการใช้ตราสัญลักษณ์ รวมถึงชื่อเรียกยี่ห้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปใช้เรียกผลิตภัณฑ์อื่นๆ นั้น ก็ยังมีความกังวลอยู่ หากจะพูดไปก็มีผลต่อการจดจำของคน

จากการศึกษาครั้งล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ พบอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานานของผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มมากขึ้นทั้งผู้หญิงและผู้ชายถึงร้อยละ 30

จึงอยากจะขอความร่วมมือตรงนี้ด้วย

เราไม่ได้ห้ามขาย ไม่ได้ห้ามดื่ม แต่อยากให้ทำตามกฎหมายด้วยคือ ห้ามโฆษณา

 


ที่มา : มติชนออนไลน์