เตือนวิกฤตรุมเร้า

New Chapter
บทนำ

ในงานสัมมนา “New Chapter เศรษฐกิจไทย” โดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 46 มีหลากหลายมุมมองที่น่าสนใจทั้งจากภาครัฐและเอกชน นำโดย นายปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ฯลฯ

ประเด็นที่ถูกจับตาไม่พ้นการประเมินสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน-อนาคต ของนายปรเมธี และ ดร.กอบศักดิ์ โดยนายปรเมธี มองภาพรวมในปีนี้ว่า ได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนัก ประมาณการว่าไทยจะเจอเงินเฟ้อ 4.9% สูงกว่าที่ประมาณการไว้ที่ค่าเฉลี่ย 1-3% ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจปรับลงเหลือ 3% ที่สำคัญคือเรื่องดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนสำคัญทั้งภาคธุรกิจและประชาชน มีแนวโน้มปรับเพิ่ม

แม้ที่ผ่านมาผู้เกี่ยวข้องพยายามยื้อดอกเบี้ยนโยบายไม่ให้สูงเกินไป จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50% แต่จากแนวโน้มภายในปีนี้คงต้องขยับขึ้นไม่มากก็น้อย เห็นได้จากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยไปตาม ๆ กัน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา มีแผนขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ขณะที่ภาคเอกชนไทยแห่ออกหุ้นกู้จำนวนมาก พร้อมให้ดอกเบี้ยสูง หวังตุนเงินสดรวมถึงคุมต้นทุนดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสม การขยับดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่จังหวะเวลาเท่านั้น

ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์มองว่าไทยกำลังจะพ้นอุโมงค์มืดมิดจากปัญหาโควิด-19 โดยรัฐบาลกำลังจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น หวังให้การใช้ชีวิตของประชาชนและธุรกิจดำเนินการได้มากขึ้น แต่แม้จะพ้นปัญหาโควิด-19 ทว่าเศรษฐกิจไทยและโลกกำลังก้าวเข้าสู่ปัญหาใหม่คือการฟื้นตัวไม่มากอย่างที่หวัง คาดว่าไทยอาจใช้เวลา 2-3 ปี ฟันฝ่าปัญหาทั้งตลาดการเงินโลกผันผวน วิกฤตพลังงานราคาสูง รวมไปถึงเงินเฟ้อ

จากมุมมองของนายปรเมธีและ ดร.กอบศักดิ์มีความคล้ายคลึงกันในหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาที่ไทยต้องเผชิญในช่วง 2-3 ปีจากนี้ ที่เชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังผันผวนอย่างหนัก และมีแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยจาก 2 ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐและจีน ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นผ่านนักธุรกิจกว่า 68% ที่เชื่อว่าสหรัฐจะย่ำแย่ในปี 2566 ส่วนจีนยังมีปัญหาเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ที่คาราคาซังมานาน และการปิดเมือง

การพาประเทศฝ่าวิกฤตต่าง ๆ ที่จะถาโถมเข้ามาในอนาคตอันใกล้ จึงต้องพึ่งความสามารถเฉพาะทางของผู้นำ และรัฐบาล มาบริหารประเทศในช่วงปัญหาเช่นนี้ ซึ่งไทยอยู่ในช่วงรอยต่อปีท้าย ๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และกำลังจะหมดวาระในต้นปี 2566 ต้องดูกันต่อไปว่าประเทศไทยจะรับมือปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าได้ดีขนาดไหน