จุฬาฯ เร่งพัฒนาชุดตรวจภาวะสมองเสื่อม ผลกระทบจากลองโควิด

โควิด ติดเชื้อโควิดซ้ำ

หมอธีระวัฒน์ เผยต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 เข้าสู่โรคประจำถิ่น ด้านจุฬาฯ เร่งพัฒนาชุดตรวจภาวะสมองเสื่อมจากลองโควิด 

วันที่ 3 มิถุนายน 2565 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า โควิดใกล้จะเป็นโรคประจำถิ่นด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ไวรัสมันอ่อนกำลัง ประกอบด้วยคนได้รับวัคซีน หรือคนที่เคยติดเชื้อ ประกอบกับได้รับวัคซีนทั่วไป เลยดูว่าอ่อนกำลัง เพราะถ้าโอมิครอนเฉย ๆ ไปเจอกับคนที่ไม่ได้รับวัคซีนเลย โอมิครอนอาจจะน่ากลัวมากกว่า

“เพราะฉะนั้นคำว่า ประจำถิ่น หรือเกือบจะประจำถิ่น มันมีตัวแปรคือ ไวรัส และคนที่ได้รับวัคซีน ซึ่งคนที่ได้รับวัคซีนจริง ๆ แล้วต้องได้รับในระดับ 3 เข็ม เพราะในต่างประเทศเองก็เพียงพอ ก็จะทำให้มีความปลอดภัยระดับหนึ่ง”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า แต่ที่ห่วงคือ อาการลองโควิด อย่างตอนเดลตา ดูจะมีอาการรุนแรง จบก็จบ หายก็หาย ไม่มีอาการต่อเนื่อง แต่โอมิครอนพอหายแล้วก็จะมีอาการประหลาด ๆ กลับขึ้นมาอีก ขณะนี้ได้รับทุนสำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มาประเมินเรื่องนี้ และพัฒนาชุดตรวจ

ขณะเดียวกันคือ ดูว่าใครที่ยังมีแนวโน้มว่าจะมีลักษณะของอาการลองโควิดต่อเนื่องไปนาน และกระทบต่อสมองแค่ไหน ซึ่งตอนนี้เราสามารถตรวจพิษที่อยู่ในสมองได้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เราน่าจะเป็นที่แรก ๆ ที่สามารถพัฒนาการตรวจภาวะที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมแบบนี้ และเราได้ลองเอามาใช้ในประชาชนทั่วไปแล้วสำหรับประชาชนที่สงสัยว่าจะสมองเสื่อมหลังจากหายจากโควิด-19 แต่กลไกที่เราเริ่มใช้ขณะนี้เริ่มคัดกรองไปแล้วกว่า 50 ราย และจะนำไปใช้ในการตรวจคนที่มีอาการลองโควิด ที่มีอาการทางสมอง หรือไม่มีอาการทางสมองก็ตาม เพราะว่าเจ้าขยะโปรตีนพิษเหล่านี้ มันจะเริ่มเข้าไปสะสม เราก็จะทำการศึกษาว่าคนที่อายุ 30-40 ปี ไม่ควรจะมีโปรตีนชนิดนี้อยู่ ไปสะสมในสมอง ซึ่งแปลว่าสมองจะแก่เร็วกว่าคนธรรมดา

Advertisment