
เป็นประเด็นตั้งแต่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อพบว่า กทม.มีงบประมาณปี 2565 ด้านการลงทุนเหลืออยู่เพียง 94 ล้านบาท แต่ประธานทีมยุทธศาสตร์ของชัชชาติมีทางออก งัดแผนจัดงบฯ ZBB หรือทำงบประมาณจากฐานศูนย์มาใช้ได้
วันที่ 7 มิถุนายน 2565 ดร.ยุ้ย ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานยุทธศาสตร์คณะทำงานของผู้ว่าฯ กทม.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการประชุมสภา กทม.นัดแรกเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ว่ามีเนื้อหาที่พูดกันถึงการจัดสรรงบประมาณจากความจำเป็นของโครงการหรือกิจกรรมให้มีประสิทธิภาพ หรือ “Zero-Based Budgeting”
ดร.ยุ้ยกล่าวว่า จริง ๆ แล้ววิธีการจัดทำงบประมาณ Zero-Based Budgeting พัฒนาโดยปีเตอร์ เพียร์ (Peter Pyhrr) ตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) แต่ไม่มึใครหยิบนำมาใช้ให้เป็นรูปธรรมและสามารถจับต้องได้จริงจัง กระทั่ง ผศ.ดร.วิลาสินี วงศ์แก้ว อาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาช่วยให้ความรู้และรายละเอียด จึงต้องขอขอบคุณในเรื่องนี้
ประธานยุทธศาสตร์คณะทำงานผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า กทม.ยุคชัชชาติ จะเซต “Zero-Based Budgeting” เอามาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่ออนาคตในวันข้างหน้าของพวกเราทุกคน
“เรื่องบางเรื่อง งานบางอย่างที่มีและดีอยู่แล้วเราไม่ต้องคิดใหม่ แค่ลงรายละเอียดให้ลึก ลงมือทำให้จริงจัง ใช้ให้เหมาะกับโลกปัจจุบัน ปรับตัวให้เร็ว ให้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น Zero-Based Budgeting คือ 1 ใน 214 นโยบายหลักทีมชัชชาติ ยุ้ยตั้งใจจริงที่อยากศึกษา เรียนรู้ และนำมาใช้สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นจริงในยุคนี้” ดร.ยุ้ยกล่าว
สำหรับปีเตอร์ เพียร์ เป็นผู้พัฒนาแนวคิด (Zero-Based Budgeting หรือ ZBB ใช้กับบริษัท เทกซัส อินสตรูเมนต์ เมืองดัลลัส รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งเป็นผู้จัดการบริษัทในยุค 1960 จนประสบความสำเร็จ จากนั้นเขียนบทความเรื่อง ZBB ใน Harvard Business Review เมื่อปี 1970 จนโด่งดัง
ต่อมาปี 1973 (พ.ศ. 2516) อดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย ทำสัญญากับเพียร์ให้นำระบบ ZBB มาใช้ในกระบวนการบริหารจัดการงบประมาณของรัฐจอร์เจียอย่างมีประสิทธิภาพ