บทบรรณาธิการ: แก้ไม่สะเด็ดน้ำ

น้ำมันแพง เพราะอะไร
บทบรรณาธิการ

 

เริ่มมีผู้รู้และผู้คนในแวดวงการเงิน-พลังงาน จำนวนไม่น้อยออกมาแสดงความเห็นกับการบริการงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในการรับมือปัญหาเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และราคาพลังงาน เพราะนอกจากจะเชื่องช้าและไม่ทำอะไรให้สะเด็ดน้ำเสียที ยังไม่ได้ช่วยปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างตรงจุด ราคาสินค้ายังเดินหน้าปรับขึ้นต่อเนื่อง จนถึงกับไล่ให้ไปดูแผนรับมือของรัฐบาลชุดเก่า ๆ

คนในโลกและประเทศไทยไม่ใช่ว่าไม่เคยเจอราคาน้ำมันแพงผิดปกติ เพราะในอดีตเคยพุ่งใกล้ระดับ 150 ดอลลาร์/บาร์เรลมาแล้ว แต่รัฐบาลบริหารจัดการจนรอดพ้นไปได้ โดยราคาสินค้าและภาคขนส่งไม่ได้ขึ้นราคาดุเดือดจนกระทบค่าครองชีพเหมือนปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่ ณ เวลานี้ราคาน้ำมันโลกวนเวียนอยู่แถว ๆ 120 ดอลลาร์/บาร์เรล แม้ในอดีตกองทุนพลังงานต้องแบกรับหนี้สินราว ๆ 8 หมื่นล้านบาท แต่แลกมากับราคาสินค้าไม่ได้ขยับขึ้นหลาย ๆ ระลอก

แต่กับรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้ออกมาตรการหรือประกาศแผนอะไรชัดเจน ใช้วิธีแก้แบบวันต่อวัน ทำให้ผู้ผลิตและภาคขนส่งปรับราคาขึ้นหลายครั้งตามต้นทุน แม้ล่าสุดกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันจะตัดสินใจเฉือนค่าการกลั่นนาน 3 เดือน เพื่อส่งเงินเข้ากองทุนราว ๆ 2.1 หมื่นล้านบาท อาจจะยื้อเวลาการปรับเพดานราคาดีเซลไปอีกระยะ แต่รัฐบาลต้องชัดเจนว่าหลังจากนี้จะทำเช่นไรต่อ มีแผนเพิ่มเติมในการรับมือหากราคาน้ำมันยังสูงต่อเนื่องอย่างไร

เช่นเดียวกับปัญหาเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยขาขึ้นหลังจากธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 0.75% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทั้งมีแผนจะปรับขึ้นอีกหลายครั้งภายในครึ่งปีหลัง หากตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง ประเทศไทยไม่น่าจะยื้อเวลาได้นานนัก เพราะเงินเฟ้อในไทยก็พุ่งทะยานอย่างน่ากลัว บวกกับประเทศต่าง ๆ พาเหรดขึ้นดอกเบี้ยไปเกือบหมดแล้ว และเริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession)

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเห็นตรงกันว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรจะประชุมนัดพิเศษคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 0.25% เพิ่มจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 0.5% และช่วงเวลาที่เหลือก่อนสิ้นปีน่าจะปรับมากกว่า 1 ครั้ง เพราะหากรอถึงการประชุมนัดหน้าเดือน ส.ค. อาจทิ้งเวลานานเกินไปและจะแก้เงินเฟ้อล่าช้า จนส่งผลกระทบค่าครองชีพของประชาชนมากขึ้น แต่ กนง.ยังไม่มีท่าทีชัดเจนออกมา

รัฐบาลในฐานะทีมผู้บริหารประเทศต้องเร่งออกแผนเข้มข้น ทำให้สะเด็ดน้ำมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มธุรกิจเปราะบาง ทั้งเอสเอ็มอี หรือภาคการท่องเที่ยวที่บาดเจ็บสาหัสจากโควิด-19 มานานหลายปี จำนวนมากล้มหายตายจาก หรือต้องสร้างหนี้เพื่อพยุงตัวเอง เพราะที่ผ่านมาทั้งภาคธุรกิจรายย่อยและคนไทย กัดฟันสู้ด้วยตัวเองจนฟันแทบหักหมดปากแล้ว